ตรัง - ตื่นตัวตามกระแส ข้าราชการ จ.ตรัง แต่งชุดไทยย้อนยุคสร้างสีสันงาน “ย่านตาขาว วันวาน” ภายใต้โครงการวิจัย ย่านตาขาวโมเดล ประชาชนแต่งไทยร่วมงานคึกคัก จัดกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรม เน้นรากเหง้า ของดีชุมชน ต้อนรับสงกรานต์
วันนี้ (12 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สวนสาธารณะหนองชุมแสง ในเขตเทศบาลตำบลย่านตาว อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ “ย่านตาขาว วันวาน” โดยมี นายวุฒิชัย สุนทรนนท์ นายกเทศมนตรีตำบลย่านตาขาว นางทัศนีย์ สุนทรนนท์ กรรมการจัดงานย่านตาขาวโมเดล ประธานชุมชน และตัวแทนชุมชน พร้อมด้วยอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง รวมถึงพี่น้องประชาชนชาวย่านตาขาวให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ โครงการย่านตาขาวโมเดล ที่ทำร่วมกันระหว่างเทศบาลตำบลย่านตาขาว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง และชุมชนในเขตเทศบาลตำบลย่านตาขาว ทำให้เกิดเรื่องราวย่านตาขาววันวาน เพื่อสืบสานอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นบ้านเกิดตามวิถีดั้งเดิมของคนในท้องถิ่น ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าในการรักบ้านเกิด และภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ จึงร่วมกันจัดงานสงกรานต์ย่านตาขาววันวาน ระหว่างวันที่ 11-13 เมษายน 2561 นี้
โดยภายในงานได้จัดให้มีนิทรรศการโครงการย่านตาขาวโมเดล นิทรรศการภาพถ่ายเก่าของชุมชนคนอำเภอย่านตาขาว จุดเยี่ยมชม และเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม มีการแสดงลิเกป่า รวมถึงอาหารพื้นบ้านของชุมชนย่านตาขาว ซึ่งทุกจุดแสดงถึงวิถีดั้งเดิม จำหน่ายสินค้า และ อาหารพื้นเมือง และสัมผัสได้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของคนย่านตาขาวทั้งสิ้น
โดยมีคณะทำงาน และนักวิชาการจากมหาวิทยลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง มีการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนย่านตาขาว ได้ลงพื้นที่นั้น เป็นบทสรุปได้ว่า พื้นที่อำเภอย่านตาขาว เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อม และอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ปราชญ์ชาวบ้าน และความหลากหลายทางอาหาร และชาติพันธุ์ อันเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของพื้นที่ย่านตาขาวเท่านั้น และในส่วนนี้จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญในการขับเคลื่อนย่านตาขาว สู่การวางแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงพัฒนาเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของคนย่านตาขาวต่อไป
โดยมีแนวคิดว่าร่วมกันว่า “ความยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืนขึ้นอยู่กับชาวย่านตาขาวเอง หากทุกคนตระหนัก และเห็นคุณค่า และไม่ลืมที่จะหยิบเอาสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนที่ไม่สามารถจะไปหาได้จากที่อื่น แล้วเปิดให้ทุกคนบนโลกได้รับรู้ ซึ่งจริงๆ ทุกชุมชนในโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีราคาไม่แตกต่างกัน อยู่ที่ว่าเราจะสร้างคุณค่า หรือสร้างความเข้าใจให้ชาวโลกได้รับรู้ และเข้าใจ และยอมรับในคุณค่าของเราแค่ไหน อย่างไร และในขณะเดียวกัน คนในชุมชนเองก็ต้องเห็นคุณค่าของตัวเองด้วย เพราะก่อนที่จะให้คนอื่นมาเห็นคุณค่าในตัวเรา และสำคัญต้องปลุกจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดให้แก่เยาวชนรุ่นหลังให้หันมาสืบทอดวิถีของบรรพบุรุษไม่ให้สูญหาย
ซึ่งบรรยกาศก็เป็นได้ด้วยความชื่นมื่น ผู้ร่วมงานมีการแต่งกายชุดไทยสมัยต่างๆ อย่างสวยงามเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก