ชุมพร - ชาวบ้านกว่า 500 คน บุกศาลากลางจังหวัดชุมพร โวยสร้างถนนยุทธศาสตร์ชุมพร-เมียนมา เหลือแค่ 10 กม. ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่สัมปทานพื้นที่ปลูกปาล์มคัดค้านทั้งที่หมดสัญญาแล้ว
เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ ( 9 เม.ย.) ที่หน้าศาลกลางจังหวัดชุมพร ได้มีชาวบ้านในตำบลรับร่อและตำบลหงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ กว่า 500 คน นำโดยนายอวยพร มีเพียร นายก อบต.รับร่อ นายวิรัน ชูกลาง ส.อบจ.ชุมพร เขต 2 ท่าแซะ เดินทางมายืนหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอความช่วยเหลื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องการก่อสร้างถนนคอนกรีตสายชุมพร-เกาะสอง
นายอวยพร มีเพียร นายก อบต.รับร่อ กล่าวว่า ถนนสายชุมพร-เกาะสอง เป็นถนนเชื่อมชายแดนไทย-เมียนมา ภายใต้โครงการยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นถนนสายเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เนื่องจากในอนาคตจะมีการเปิดด่านพรมแดนเชื่อมต่อระหว่างไทย-เมียนมา และทะเลฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน เริ่มจากถนนเพชรเกษมบริเวณสามแยกบ้านอ่างทอง ตำบลหงษ์เจริญ ถึงตำบลรับร่อ อ.ท่าแซะ ระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร สร้างไปแล้ว 2 ช่วงเป็นถนนคอนกรีต แต่ยังเหลืออีกราว 14 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 17 ล้านบาท ซึ่งมีการประมูลงานเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถก่อสร้างได้
เนื่องจากถูกคัดค้านจากทาง บริษัท วิจิตรภัณฑ์สวนปาล์ม จำกัด ซึ่งเป็นเป็นบริษัทสัมปทานพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเกือบ 1 หมื่นไร่ แต่ได้หมดสัญญาสัมปทานไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 และขณะนี้อยู่ระหว่างขอต่อสัญญาสัมปทานใหม่ แต่กรมป่าไม้ยังไม่อนุญาต ได้คัดค้านไม่ยินยอมให้มีการก่อสร้างโดยอ้างว่าศาลปกครองให้ความคุ้มครองระหว่างยื่นต่อสัญญาสัมปทานใหม่ จึงทำให้ชาวบ้านที่ต้องใช้ถนนดังกล่าวในการสัญจรไปมาและขนส่งพืชผลทางการเกษมได้รับความเดือดร้อน และจะทำให้งบประมาณก่อสร้างต้องตกไป จึงทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาจังหวัดตามโครงการยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ดังกล่าวด้วย
ด้านนายณรงค์ พลละเอียด ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวกับตัวแทนและชาวบ้าน ว่า การก่อสร้างถนนสายนี้ซึ่งเดิมเป็นถนนลูกรัง เส้นทางสายเก่าจังหวัดได้กำหนดให้เป็นถนนสายยุทธศาสตร์พัฒนาสำคัญของจังหวัด หากมองแล้วการก่อสร้างก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เมื่อตนสอบถามไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง คือ กรมป่าไม้ได้อ้างว่า บริษัท วิจิตรภัณฑ์สวนปาล์ม จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานเดิม แต่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ความคุ้มครองชั่วคราวระหว่างยื่นขอต่อสัญญาสัมปทานใหม่ จึงมีผลผูกพันตามกฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้ แต่เมื่อไปสอบถามจากบริษัทดังกล่าวบอกว่าการก่อสร้างถนนไม่เกี่ยวกับบริษัทแต่อย่างใดต้องไปขอจากกรมป่าไม้ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็โยนกันไปมาทำให้มีเกิดปัญหาขึ้น
นายณรงค์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นตนจะรวบรวมรายชื่อชาวบ้านทั้งหมดที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนนับพันคนไปยื่นร้องต่อศาลปกครองเช่นกัน เพื่อให้ความคุ้มครองเรื่องการก่อสร้างถนนบริเวณดังกล่าว เพื่อไม่เกิดความเดือดร้อนกับชาวบ้านจำนวนมาก ขณะที่บริษัทซึ่งหมดสัมปทานแล้วอยู่ระหว่างยื่นขอต่อสัญญาสัมปทานใหม่ เป็นผู้เดือดร้อนเพียงรายเดียวเท่านั้น.