ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวปาดังเบซาร์รวมตัวยามว่างช่วงหน้าแล้ง “ตำข้าวเม่า” สร้างความสามัคคีในชุมชน ให้ทุกคนได้มีกิจกรรมร่วมกัน และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่คู่สังคม ไม่เลือนหายไปกับกาลเวลา
ชาวบ้านตะโล๊ะ ม.8 ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม และมีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างเหนียวแน่น แตกต่างกับท้องถิ่นอื่นๆ ที่ปล่อยปละละเลยให้สิ่งดีๆ ต้องสูญหายไปกับสังคมในยุคปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือ การ “ตำข้าวเม่า” ที่ชาวบ้านตะโล๊ะต่างร่วมมือร่วมใจกันในช่วงหน้าแล้ง ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
นางซิติหะหวา จิตตรง อายุ 49 ปี เปิดเผยว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านได้ใช้เวลาว่างในช่วงหน้าแล้งหลังจากเกี่ยวข้าว ซึ่งหยุดกรีดยางพารา และเป็นช่วงปิดเทอม รวมตัวกันที่ศูนย์เรียนรู้ของหมู่บ้านตำข้าวเม่า เพื่อรับประทาน และแจกจ่ายกัน ซึ่งจุดมุ่งหมายของการตำข้าวเม่าเป็นการร่วมอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยที่เริ่มหาดูได้ยาก สำหรับที่ตะโล๊ะ หรือใน อ.สะเดา ก็อาจจะมีที่นี่เพียงที่เดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการตำแบบโบราณทุกขั้นตอน ซึ่งใช้แรงงานคนล้วนๆ
โดยขั้นตอนการทำต้องเกี่ยวข้าวที่แก่จัด หรือไม่สุกมาก มักจะใช้ข้าวเหนียวแดงนำมานวด หลังจากนั้นนำข้าวเปลือกที่ได้มาแช่น้ำไว้ 1 คืน เพื่อให้เมล็ดข้าวนิ่ม แล้วนำมาใส่ภาชนะให้สะเด็ดน้ำ นำมาใส่กระทะคั่วด้วยไฟอ่อนๆ ซึ่งใช้เตาถ่านเพื่อเพิ่มความหอม ใช้ก้านกล้วยคนแทนตะหลิวเพื่อลดเสียงดัง (ซึ่งมีเรื่องบอกเล่าว่า ในสมัยก่อนคนโบราณมักจะคั่วข้าวเม่าช่วงตอนค่ำ เลยไม่อยากให้มีเสียงดังรบกวนมาก) รอจนเมล็ดข้าวเริ่มแตก แล้วนำมาตำในครกไม้ให้เมล็ดข้าวแบน จึงนำไปใส่ในกระด้ง เพื่อทำการฝัดข้าวแยกแกลบ และเศษจมูกข้าว หรือสิ่งสกปรกออก
จากนั้นนำมะพร้าวทึนทึกขูด ผสมด้วยน้ำตาลทรายแดง เกลือป่น มาผสมกับข้าวเม่าคนให้ทั่ว มีเคล็ดลับเพิ่มความอร่อยโดยใช้น้ำมะพร้าวเติมลงไปเพิ่มความนุ่มหอมหวาน แทนน้ำเปล่า หรือน้ำต้มสุก จากนั้นก็ตักแจกจ่ายกันรับประทาน เป็นข้าวเม่าที่อร่อย ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพ
“นับวันสิ่งดีๆ หรือภูมิปัญญาชาวบ้านเริ่มจะเลือนหายไป แต่ที่บ้านตะโล๊ะ กลับมีความภูมิใจที่ยังอนุรักษ์ไว้ได้ ซึ่งการตำข้าวเม่าจะใช้เวลาว่างในช่วงหน้าแล้ง เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพ ให้ทุกคนทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ได้มาพบปะพูดคุย เสริมสร้างความรักความสามัคคีในครอบครัว รวมถึงในชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นตัวประสาน” นางซิติหะหวา กล่าวทิ้งท้าย