คอลัมน์ : ชุมคน-ชุมชน-คนใต้
โดย : รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา
กระแสข่าวอันฮือฮาโด่งดังที่มาพร้อมแรงกดดันทางสังคมจากแทบทุกทิศทาง ในรอบเดือนที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องพฤติกรรมที่ถูกกล่าวหาของผู้บริหารระดับสูง (CEO) บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งกับพวก ที่พัวพันกับคดีล่าเสือดำและสัตว์ป่าหายากในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จากการจับกุมของเจ้าหน้าที่แบบคาหนังคาเขา พร้อมของกลางที่เป็นซากสัตว์ อาวุธปืน กระสุนนานาชนิด
แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านมามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมายจะเป็นไปอย่างล่าช้า มีความพยายามในการวิ่งเต้นช่วยเหลือให้พ้นผิด ถูกกล่าวหาอย่างออกหน้าออกตาของเจ้าหน้าที่และกลไกรัฐที่เกี่ยวข้อง การสั่งสอบสวนเจตนารมณ์ของเจ้าหน้าที่รับแจ้งความว่า มีเจตนากลั่นแกล้ง แอบแฝง การภาคทัณฑ์พนักงานคดีข้อหาไม่รู้กฎหมาย รวมไปถึงความพยายามในการเบี่ยงเบนคดีจากความสนใจของสาธารณชนในรูปแบบต่างๆ
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นข้อสงสัยและที่มาของคำถามอันมากมายต่อการดำเนินคดี วิกฤตศรัทธาและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ข้อกังขาต่อระบบธรรมาภิบาลของบริษัทที่ประกาศ “ไม่กระทำการให้เสียหายต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม...แสวงหาโอกาสสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ปลูกฝังจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง”
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาและไม่อ้อมค้อมจะพบว่า กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างอันน้อยนิด ที่บังเอิญผุดโผล่และถูกตีแผ่ออกมา เพราะยังมีปัญหาที่ถูกหมักหมม แอบซุกซ่อน ปิดทับ ถูกทำให้มองไม่เห็น หลงลืม หรือความเคยชินอีกมหาศาล
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ปัญหาเหล่านี้ล้วนมี/เกิด/เป็นผลมาจาก “ระบบและวัฒนธรรมอุปถัมภ์” และ “อำนาจนิยม” ที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน
ภายใต้เครือข่ายความสัมพันธ์แบบเปิดเผย ปกปิด ซ่อนเร้น อำพรางของบุคคล-องค์กร ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชนและภาคสังคม ทำให้กลายเป็นที่มาของการเอื้อประโยชน์ ช่องทางลัดสร้างความได้เปรียบ โอกาสทางธุรกิจ การแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบ และการทุจริต คอร์รัปชั่นอันไม่สิ้นสุด
แม้ระบบและวัฒนธรรมอุปถัมภ์อาจไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายตายตัวไปทั้งหมด แต่การทำให้ระบบและวัฒนธรรมอุปถัมภ์สามารถลงหลักปักฐาน ด้วยอำนาจนิยม และการนิยมอำนาจของผู้ที่เหนือกว่า ต่ำกว่า ในเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เท่าเทียม เท่าทัน ทำให้เป็นที่มาของโอกาส ผลประโยชน์ดังที่ได้กล่าวในข้างต้น
ทว่ากลับเป็นวิกฤตการพัฒนาอย่างไม่ต้องสงสัย ดังรายงานวิจัยที่สอดคล้องต้องกันว่า “ประเทศ/สังคมด้อย หรือกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ล้วนตกอยู่ในระบบวัฒนธรรมอุปถัมภ์และอำนาจนิยมที่ทำงานอย่างเข้มข้น มีประสิทธิภาพ” ทั้งสิ้น
ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย เผลอๆ อาจจะรุนแรง หนักหน่วงกว่า หากสะท้อนจาก การทุจริต คอร์รัปชั่น การใช้อำนาจโดยมิชอบ ตามอำเภอใจ การใช้อำนาจที่ล้นเกินเบี่ยงเบนมาตรฐาน จริยธรรมทางสังคม การปิดปั้นการตรวจสอบควบคุม ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน การคุกคาม ลิดรอน สิทธิเสรีภาพของประชาชน การปฏิเสธการเคลื่อนตัวเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย การบิดเบือนสัญญาประชาคม ปฏิเสธการเลือกตั้ง ฯลฯ
แม้ในระยะแรกอำนาจนิยมอาจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปได้สอดรับกับอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการของผู้คนในสังคม แต่เต็มไปด้วยการหยิบฉวย ใช้ผลประโยชน์จากวิกฤต ระยะถัดไปหากยิ่งพยายามค้ำยัน ยืดอำนาจที่ไกลกว่าเงื่อนไขเดิม อำนาจนิยมก็จะกลายวิกฤตโดยตัวเอง
การอุปถัมภ์และอำนาจยังทำให้เกิดกลายเป็น “อภิสิทธิ์ชน” อันเนื่องมาจากการมี “อำนาจ บารมี ทรัพย์สินเงินทอง เส้นสาย และเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น” ของบุคคล-องค์กร และใช้เป็นเครื่องมือในการอ้างอภิสิทธิ์เหนือกฎหมาย กฎ กติกา หรือสิทธิพิเศษเหนือบุคคลทั่วไปในสังคม
การเรียกร้องให้ประชาชนทั่วไปเคารพกฎหมาย การจริงจังกับการดำเนินคดีเก็บเห็ดในเขตป่าสงวน แต่ปล่อยให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่า การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ การทวงคืนผืนป่าที่สร้างความเดือนให้กับประชาชน การอ้างยืมนาฬิกาเพื่อนด้วยมาตรฐานจริยธรรมที่คลุมเครือ กำกวม ช่องทางพิเศษสำหรับบุคคลพิเศษ
แม้กระทั่งการร่างเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ถูกมองว่าเป็นฉบับอภิชนเป็นใหญ่ เนื่องจากได้ทำลายหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตย การสถาปนาให้อำนาจ ความสำคัญกับอภิสิทธิ์ชนเพียงบางกลุ่ม การทำให้กฎหมายทั่วไปมีอำนาจเหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
วัฒนธรรมอุปถัมภ์ อำนาจ และการเป็นอภิสิทธิ์ชน จึงถือเป็นความจริงรูปธรรมที่การตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำทางทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเป็นมนุษย์ ความไม่เสมอภาค และไม่เป็นธรรม อันยากที่จะ “เปลี่ยนผ่าน” สังคมไทยไปสู่ความยั่งยืนได้ ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งเป็นการค้ำยัน สถาปนาโครงสร้างและวัฒนธรรมเหล่านี้ ให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างแน่นหนาและนำพาไปสู่ความเสื่อมทรุดในทุกมิติ
การร่วมกัน “เปล่งเสียง” เรียกร้อง รณรงค์ เฝ้าติดตามสถานการณ์ การให้กำลังใจข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญ แรงเชียร์ตามกระแสอาจไม่เพียงพอ หากแต่ต้องแสดงบทบาท “การเป็นพลเมือง” ที่ตื่นตัวต่อการปกป้องผล “ประโยชน์สาธารณะ” อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในระดับชุมชน ท้องถิ่น และที่สูงขึ้นอันเกี่ยวพันกับผู้คนในสังคมไทยและสังคมโลก
พร้อมๆ ไปกับการเสริมสร้างมุมมองความคิดพลเมือง ที่เชื่อมั่น ศรัทธาให้ความสำคัญกับ “ความเป็นมนุษย์” ที่เท่าเทียม การรื้อเลิกโลกทัศน์ ชีวทัศน์ บรรทัดฐาน และค่านิยมที่ผิดๆ เช่น การยกย่องเชิดชูชนชั้นนำ บุคคลที่ร่ำรวยชื่อเสียง เงินทอง มีบารมี ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ใหญ่โต การใช้เส้นสาย พรรคพวก ระบบอาวุโส ฯลฯ ผ่านการจัดการศึกษา การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ทั้งในระดับนามธรรม รูปธรรม ที่เป็นการสอดแทรกในเส้นทางชีวิต การปฏิบัติการจริงในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ไม่ปล่อยให้วูบวาบแค่พริบตา เป็น “ไฟไหม้ฟาง” แบบที่ผ่านๆ มา
ที่สำคัญที่สุดคือ การเปิดพื้นที่ทางสังคมและการสร้างสังคมแบบเปิด ที่ทำให้ผู้คน พลเมืองเข้ามาแสดงพลังบทบาทได้อย่างเต็มที่เท่านั้น ที่จะเป็นความหวังของการทำให้วัฒนธรรมอุปถัมภ์ อำนาจ และการเป็นอภิสิทธิ์ชน หมดความสำคัญลงไป ทำให้สังคมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเป็นจริงได้
“สังคมที่ก้าวหน้า คือ สังคมที่ให้คุณค่ากับความพลเมือง พลเมืองที่ก้าวหน้า คือ พลเมืองที่กระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงและการลงแรงสร้างประชาธิปไตย”