คอลัมน์ : ชุมคน-ชุมชน-คนใต้
โดย : รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา
1.
แม้หมอบรัดเลย์ (Bradley) จะบัญญัติคำว่า “ชาวบ้าน” ขึ้นมาในภาษาไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2416 แต่เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ชาวบ้าน” สังคมไทยโดยทั่วไปยังมักหมายถึง ประชาชนทั่วที่อาศัยอยู่ในภาคชนบท ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ยากจน ไร้โอกาส ขาดการศึกษา หรืออาจหมายถึงคนธรรมดาสามัญที่ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ และจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของ “บ้าน” อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เป็นคู่ตรงข้ามกับ “เมือง” ที่เป็นสัญลักษณ์และความหมายของการ “พัฒนา” ที่มีความเจริญ ความทันสมัย ความศิวิไลซ์ และการเป็นศูนย์กลางของความเจริญในด้านต่างๆ
ยิ่งในกระแสเร่งรัดการพัฒนาเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการดึงดูดทรัพยากรเพื่อหล่อเลี้ยงการพัฒนาสมัยใหม่อย่างขนานใหญ่ด้วยแล้ว ชาวบ้านยิ่งถูกลดทอนให้เป็น “ผู้ด้อยพัฒนา” หรือ “ถ่วงความเจริญ” ดังสะท้อนจากโครงการพัฒนาของรัฐที่ลงไปในชนบท ที่มักวาดภาพชาวบ้านเป็นพวก “โง่ จน เจ็บ” หรือนำพาชาวบ้านให้หลุดพ้นจากวงจรดังกล่าวด้วยฐานคิดดังกล่าวอยู่เรื่อยไป เพียงอาจเปลี่ยนรูปคำไป เช่น จากคำว่า โง่ จน เจ็บ เป็น “ถ้าไม่ใช้ปัญญาทุนที่ได้มาก็ไม่เหลือ” อันเป็นคำขวัญ (Motto) รณรงค์โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์อันโด่งดังเมื่อหลายปีก่อน หรือ หมู่บ้านประชารัฐในปัจจุบัน
ด้านหนึ่งชาวบ้านมักถูกเรียกร้องให้เสียสละเพื่อความความเจริญ ความก้าวหน้าของสังคมอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าการพัฒนา กิจกรรม โครงการนั้นจะก่อให้เกิดปัญหา-ผลกระทบอันมากมายมหาศาลเพียงใด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะชาวบ้าน “ไม่ได้ถูกนับรวม” ในการพัฒนาและถูกมองเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย” หรือ “สังเวยความเจริญ” หรือ “ความมั่งคั่ง” หรือ “ร่ำรวย” ของคนเพียงหยิบมือในสังคม
การที่รัฐและสังคม ประกอบสร้างตัวตนและความหมายของคำว่า “ชาวบ้าน” ในเชิงด้อยศักยภาพ ด้อยพัฒนาเช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านต้องสงบเสงี่ยม เจี๋ยมเจี้ยม เจียมเนื้อเจียมตัวและไม่มีตัวตน หรือหากจะปรากฏตัวตนขึ้นมาบ้างก็ในยามถูกเรียกร้องให้เสียสละ ยอมรับการพัฒนาที่ตนเองไม่ได้มีส่วนกำหนดเท่านั้น
2.
กรณี “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” เป็นเพียงกรณีหนึ่งของชาวบ้านที่ถูกกระทำ ในกระแสการรุกรานอย่างขนานใหญ่ของรัฐ ที่นับวันจะตัดสินใจตัดขาดการมีส่วนร่วม ขาดการยึดโยงใดๆ กับชาวบ้าน ข้อเรียกร้องของ “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี” จึงไม่เพียงได้รับการเพิกเฉยจากรัฐบาลเท่านั้น หากยังมีการใช้กลไกอำนาจรัฐในการคุกคามทำร้ายประชาชนในทุกรูปแบบ
ทั้งการใส่ร้ายป้ายสี การจับกุม คุมขัง ตั้งข้อข้อหาอันไม่เป็นธรรม ทั้งที่ข้อเรียกร้องและการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเป็นไปอย่างเปิดเผย เรียบง่าย และสามัญ เปิดเผยความต้องการเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ในโอกาสประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นไปเจตนารมณ์ของการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เพื่อเข้าถึงปัญหา สร้างการพัฒนาและการดำเนินโนบายที่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
การแสดงออกอย่างยินดีในการร่วมประชุมกับภาคธุรกิจเอกชน แต่แสดงท่าทีที่รังเกียจเดียดฉันท์ชาวบ้าน การสลายการชุมนุม จับกุมชาวบ้านที่จัดกิจกรรม “เดินเทใจ..ให้เทพา” จากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในเขตเทศบาลนครสงขลา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นไปอย่างเปิดเผย เรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน สงบ สันติ และปราศจากอาวุธ และถือเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานการเป็นพลเมืองตามที่บัญญัติรับรองไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงสะท้อนวิธีคิดแบบ “เผด็จการ-อำนาจนิยม” อย่างชัดเจนที่สุด
การตั้งข้อกล่าวหา “กีดขวางการจราจร ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ใช้กำลังใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่จิตใจและพาอาวุธ ไม้คันธงปลายแหลมไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร” จึงเป็นเพียงวิธีการทางเมือง โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมายสร้างความหวาดกลัว กดดันให้ให้ชาวบ้านต้อง “ปิดปาก/ หุบปาก” หรือที่เรียกว่า “การฟ้องคดีปิดปาก” หรือ “การฟ้องให้ชาวบ้านหุบปาก” เท่านั้น
3.
การฝังตัวสัมผัสกับสนามหมู่บ้านมานานเกือบ 30 นับแต่เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒภาคใต้ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยทักษิณ) จากจุดเริ่มต้นทำค่ายอาสาพัฒนาชนบท สู่ประเด็นทางสังคมด้านเยาวชน สิ่งแวดล้อม และการเมือง ทำให้เกิดการบ่มเพาะความคิด ชีวิต อุดมคติ ความใฝ่ฝัน และแรงบันดาลใจอันมากมาย ทำให้ “เขา-วันชัย พุทธทอง” ตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตกับการทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนต่อเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
วันชัย พุทธทอง ช่างภาพหนุ่มใหญ่ มาดเซอร์ ผมยาวหยิก ยิ้มแย้ม แจ่มใส จิตใจดี และขี้เล่น แต่ด้านหนึ่งเขาเป็นคนที่โผงผาง ยียวนชวนตั้งคำถามในแง่มุมที่ต่างชวนให้ครุ่นคิดอยู่บ่อยครั้ง แต่ในแวดวงงานพัฒนาและการทำงานกับชาวบ้านแล้ว ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันในความทุ่มเท ยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้านอย่างไม่หวาดหวั่น อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นกันเอง กลมกลืนและไม่ละสายตาจากกับชาวบ้าน
กรณีเดินเท..ใจให้เทพา กระทั่งนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านและผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 17 คน ทำให้วันชัย พุทธทอง ซึ่งคลุกคลีกับชาวบ้านกลุ่มนี้มากว่า 3 ปี เกิดความซาบซึ้ง ประทับใจสัมผัสได้ถึงความรักความผูกพันที่มีต่อถิ่นฐานบ้านเกิด และการปกป้องทรัพยากรชุมชน เพื่อชุมชนและผลประโยชน์สาธารณะในระยะยาว การไม่ยอมจำนนและการคิดค้นยุทธวิธีในการต่อสู้เรียกร้อง โต้ตอบอันหลากหลาย และเลือกนำเสนอออกมาผ่านศิลปะภาพถ่ายและจัดแสดงในชื่อ “แววตาชาวบ้าน (In the eye of Local)” ระหว่างวันที่ 9 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
การจัดแสดงผลงานแววตาชาวบ้าน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมมีแววตาของวันชัย พุทธทอง ที่เฝ้ามองมาพัฒนาการและการเติบโตของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ มาอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง เพราะ “ดวงตาคือกล้องส่องทาง” ช่างภาพอย่างวันชัย พุทธทอง จึงต้องทำอย่างที่ช่างภาพชื่อดังอย่าง Arnold Newman ชาวสหรัฐอเมริกาว่าไว้ “การเป็นส่วนหนึ่งของภาพและนำเสนอด้วยหัวใจ (ไม่ใช่กล้อง)”
เพราะการเป็นส่วนหนึ่งของภาพ สามารถทำให้ภาพสื่อความหมาย คำพูด การกระทำ และการปฏิบัติการที่สะท้อนถึงความต้องการ ความคาดหวัง แรงบันดาลใจทั้งมวล ที่ทำให้ช่างภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของเขาและเธอเหล่านั้นอย่างกลมกลืน เป็น “ดวงตาและแววตาของกันและกัน” การจับกุมและการคุมขัง จึงนับเป็นความสะเทือน ดังที่เขาพูดไว้ใน “ผู้จัดการออนไลน์” ที่ว่า
“ผมสยบยอม และค้อมคารวะให้แก่แววตาที่มุ่งมั่นจะรักษาสมบัติส่วนร่วมของชาวอำเภอเทพาเหล่านั้น เพราะนั่นคือ สมบัติของโลก พวกเขากำลังปกป้องโลก ปกป้องลมหายใจของเพื่อนมนุษย์…คือความสะเทือนใจ ทำไมสังคมถึงปล่อยให้คนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์สาธารณะต้องถูกจับดำเนินคดีแบบนั้นด้วย”
และอย่างที่ใครบางคนว่าไว้ “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” การจับกุมและคุมขัง จึงนับเป็นบททดสอบอันสำคัญของ “หัวใจ” ที่ความกล้าหาญ อดทน การเสียสละ การอุทิศตน ยืนยันสิทธิประชาชนในการปกป้องชุมชน ปกป้องฐานทรัพยากรเพื่อความความยั่งยืน ในท่ามกลางความเสื่อมทรุด ศีลธรรมและจริยธรรมทางการเมืองที่แสนจะเปราะบาง ปนเปื้อน แอบแฝงด้วยผลประโยชน์อันมากมายมหาศาล
ด้วยแววตานี้ของชาวบ้านที่เทพา และที่อื่นๆ คือสิ่งยืนยันว่าสังคมยังมีความหวัง ในวันอันมืด ที่จะร่วมกันขับไล่เงามืดแห่ง “อำนาจรัฐอันอยุติธรรม ทุนผู้กอบโกย” ที่กดหัวชาวบ้านไว้ เพื่อผลแห่งชัยชนะและการเข้าถึงความหมาย “อำนาจของชาวบ้านและสังคมไทยในบั้นปลาย”
ด้วยแววตานี้ คือ หน้าต่างแห่งโอกาสของการปฏิบัติการ เคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และสิทธิอันเกิดจากสามัญสำนึกพื้นฐานประชาชนแห่งการปกป้องชุมชน เพื่อให้ “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่สวนทางกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ยุติลงไปพร้อมๆ กับการแสวงหาอิสรภาพ สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยในความหมายของชาวบ้าน”
แววตานี้คือ สัญญาณที่เปล่งเสียงสิทธิของชาวบ้านจากที่นี่และที่อื่นๆ ทั่วสารทิศ ขณะอำนาจเผด็จการเสื่อมลงทุกวันๆ.