คอลัมน์ : ชุมคน-ชุมชน-คนใต้
โดย : รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา
ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และงดงามยิ่งสำหรับ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมืองในนาม ตูน บอดีสแลม (Toon Bodyslam) และคณะกับโครงการ “ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” ด้วยการวิ่งรณรงค์ระยะไกล 55 วัน จากใต้สุดสยาม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ถึงเหนือสุดสยาม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผ่าน 20 จังหวัด ระยะทาง 2,215 กิโลเมตร และมียอดรับบริจาคสูงถึงกว่า 1,142 ล้านบาทเลยทีเดียว
“พื้นที่-หลากลาง กับนักเดินทางยุคใหม่”
บทเรียนและปฏิบัติการของตูนภายใต้โครงการดังกล่าว นับว่ามีความน่าสนใจ และควรยิ่งต่อการขบคิด ใคร่ครวญ สำหรับปฏิบัติการสร้างพื้นที่กลาง หรือที่ภาคประชาสังคมร่วมก่อการเรียกว่า “หลา” หรือ “ศาลากลางหน” อันมีนัยยะจากการอุปลักษณ์ความหมายในเชิงวัฒนธรรมทางภาคใต้ ในแง่การช่วยเหลือ เกื้อกูล แบ่งปัน มีความเอื้ออาทร ห่วงใยในความเป็นไป อนาคตและความใฝ่ฝันของชุมชน สังคม เพื่อนมนุษย์ และเป็นผู้ที่มีจิตสำนึกสาธารณะ ตระหนักถึงความเป็นส่วนรวมของ “นักเดินทางยุคใหม่” ผู้ใฝ่ฝัน แสวงหาสังคมที่เป็นสุข ยั่งยืน มีความเป็นธรรม ไม่เหลื่อมล้ำ เสมอหน้า เคารพรักในความเป็นมนุษย์ ถิ่นฐานบ้านเกิดและความยั่งยืนทางนิเวศที่รายล้อม ในท่ามกลางการรุกคืบของระบบทุนนิยม ระบบการเมือง วัฒนธรรม และการแย่งชิงทรัพยากรไปจากชุมชน
ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ อธิบายว่า “หลาจะเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่เอกชนหรือประชาชนที่มีจิตศรัทธาสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่หยุดพักของคนเดินทาง หรือเป็นที่พักผ่อนของผู้ที่อยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียง และบางโอกาสอาจใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมบางอย่างร่วมกันของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นๆ โดยทั่วไปหลาจะนิยมสร้างไว้ริมทางที่มีผู้สัญจรผ่านเป็นประจำ อาจเป็นรายทางระหว่างหมู่บ้าน ทางเข้าหมู่บ้าน หน้าวัด หน้าเมือง..โดยปกติหลาจะมีบ่อน้ำอยู่ใกล้กัน มีเครื่องตักน้ำสำหรับตักอาบ ใช้สอย มีเผล้ง ซึ่งเป็นภาชนะดินเผาสำหรับใส่น้ำดื่ม และโดยปกติจะมีผู้คนสมัครใจคอยจัดหาน้ำดื่มที่หลา ถือว่าเป็นคนที่มีจิตใจสูง มีเมตาธรรม”
พื้นที่กลางประชาสังคมภาคใต้ เกิดขึ้นจากฐานคิดร่วมที่เห็นว่า ภาคใต้วันนี้ต้องเผชิญกับการแย่งชิงทรัพยากรอย่างขนานใหญ่ ผ่านนโยบาย ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนทางภาคอุตสาหกรรม โครงข่ายคมนาคมและพลังงาน รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และนโยบายการพัฒนาต่างๆ ตามแนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาประเทศไทย 4.0 และประชารัฐ อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของกลุ่มคนต่างๆ ในภาคใต้ในระยะยาว
ขณะที่ในเฉพาะหน้าก็มีการดำเนินโครงการต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำลายวิถีชีวิต วิถีชุมชน และคุณภาพสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นโครงการเวนคืนผืนป่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีการดำเนินโครงการด้วยการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย การใช้กฎหมายพิเศษตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ มีการละเมิดละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ทำลายหลักมนุษยธรรม การปิดกั้นการมีส่วนร่วม การตัดสินใจที่ขัดแย้งกับหลักการและวิธีการทางเมืองที่เป็นไม่เป็นประชาธิปไตย การดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่าง เป็นต้น
ทำให้เกิดการรวมตัวของภาคประชาสังคมกลุ่มหนึ่ง จากภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ผู้คนและองค์กรสนับสนุนต่างๆ ในการหลอมรวม สานพลัง สร้างสรรค์ แบ่งปัน ยกระดับการปฏิบัติการในเชิง “ขบวนการ” ที่ทรงพลัง สามารถหนุนเนื่องสู่การแก้ไข ผลักดันการแก้ไขปัญหาในทุกระดับตั้งแต่ชุมชน กระทั่งถึงการเคลื่อนเปลี่ยนในระดับที่สูงขึ้นไป
ทั้งนี้ พื้นที่กลาง ไม่ได้หมายถึงพื้นที่/สถานที่ที่ “เป็นกลาง” ปราศจากอุดมการณ์ แนวคิดทางการเมือง และการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างที่รับรู้กันอย่างผิวเผินแบบที่ผ่านๆ มา แต่คือ “พื้นที่ทางความคิด” และ “พื้นที่สังคม” ที่เสรี เปิดกว้างสำหรับภาคประชาสังคมทุกกลุ่ม ได้เข้ามาสะท้อนถึงความต้องการ ความคาดหวัง และจินตนาการเพื่อส่วนรวม ด้วยสำนึกของความเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้ ผ่านกระบวนการสนทนาอย่างรื่นรมย์ สร้างสรรค์ และร่วมกันแปลแปลงไปสู่การปฏิบัติการที่ต่อเนื่องในทุกระดับ ทั้งในเชิงพื้นที่ ประเด็น และเครือข่าย สู่วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วม ที่เรียกว่า “ภาคใต้แห่งความสุขอย่างยั่งยืน” ซึ่งให้ความสำคัญสูงสุดกับต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต การปกป้องฐานทรัพยากรอันเป็นแหล่งผลิตอาหาร การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น การสร้างนวัตกรรมพัฒนาเศรษฐกิจและการประกอบการฐานราก
“พื้นที่กลาง-สถาปนาตัวตน เชื่อมร้อยขบวน ปฏิบัติการ เฝ้าระวัง สร้างวาระทางสังคม”
การสร้างพื้นที่กลางจึงนับเป็นความพยายามที่ท้าทายสำหรับภาคประชาสังคมภาคใต้ เพราะการเชื่อมร้อย ขยายฐานเครือข่ายที่มีความแตกต่าง และหลากหลาย พร้อมๆ ไปกับการเสริมพลัง สร้างศักยภาพ ยอมรับการขับเคลื่อนอย่างอิสระของแต่ละภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ร่วม รวมถึงการผลักดันข้อเสนอในเชิงนโยบายในทุกช่องทางที่เป็นไปได้ ต้องอาศัยการบ่มความคิดกระทั่งตกผลึกร่วมกัน และทำสิ่งนั้นให้กลายเป็น “ความคิดสาธารณะ” ที่เป็น “วาระของขบวนการ” และ “การกลายเป็นวาระทางสังคมของสังคม-ชุมชน” ภาคใต้ในภาพรวมอีกด้วย
ต่อความท้าทายนี้การสร้างพื้นที่กลางในเชิงกระบวนการ จึงเกิดขึ้นอย่างลำลอง ในชื่อเรียกที่ไม่ทางการว่า “สภาประชาชนภาคใต้” โดยในระยะแรกจะทำหน้าที่เป็นกระดุมเชื่อมยึด-โยงภาคี เครือข่ายในภาคประชาสังคมเดิม การขยายฐานเครือข่ายใกล้-ไกล สร้างกระบวนการเรียนรู้ หนุนเสริม เติมพลัง
และที่สำคัญคือ การเตรียมการสมัชชาประชาชนในเชิงพื้นที่ ประเด็น และเครือข่าย และทำให้ข้อเสนอจากสมัชชาย่อยๆ ไหลรวม กลั่นกรองเป็นข้อเสนอในเชิงวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และพันธกรณีร่วมของการปฏิบัติการที่เรียกว่า “การสมัชชาประชาชน” ที่เป็นทั้งกลไกของการเชื่อมต่อภาคประชาชนและภาคประชาสังคม การทำความเข้าใจเรื่องราวสาธารณะจากเวทีเรียนรู้ เกี่ยวร้อยอารมณ์ ความรู้สึก ด้วย “ทุกข์ตน ทุกข์ร่วม และความใฝ่ฝันร่วม”กระทั่งหลอมรวมเป็นขบวนการเคลื่อนไหว และการปฏิบัติการในและนอกสนามของปัญหาด้วย “วาทกรรมและสัญลักษณ์ร่วม” ที่สะท้อนและถึงพร้อมความเป็นด้วยตัวตน-อัตลักษณ์ของขบวนการที่สถาปนาขึ้นในพื้นที่กลาง
ทั้งนี้ ปฏิบัติการสืบเนื่องของพื้นที่กลางจะเกี่ยวข้องอย่างน้อย 4 สนาม คือ
(1) สนามภายในสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างสม บ่มสร้างประสบการณ์ ความรู้ ชุดการพัฒนาและนวัตกรรมใหม่ อันเป็นทางเลือกของการพัฒนาในบริบทที่เปลี่ยนแปลงภายในและภายนอก ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีและกลยุทธ์ใหม่ๆ ของการเคลื่อนไหว
(2) สนามของการเคลื่อนไหว การต่อรอง เรียกร้อง ผลักดัน ภายใต้กฎ กติกา มารยาททางการเมือง ที่ดำรงอยู่ในพื้นที่การเมืองนั้นๆ ในขณะนั้น หรือการเปลี่ยนแปลงสร้าง ขยาย สถาปนาพื้นที่การเมืองที่ตอบสนองต่อความต้องการได้ได้มีประสิทธิภาพ
(3) สนามทางสังคม เพื่อสถาปนาอำนาจนำด้วยชุดความรู้ ประสบการณ์ รสนิยม หรือวัฒนธรรมทางสังคมใหม่ๆ อันส่งผลต่อการรับรู้ การประชันแข่งขันในท่ามกลางความหลากหลายและซับซ้อนของสังคม และ
(4) สนามที่เป็นขอบข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม ที่เชื่อมโยงใยผู้คนทุกชั้นชน ทั้งใกล้ -ไกล ด้วยวิธีการสื่อสารในเชิงคุณภาพที่เป็นการเปิดทาง เชิญชวน “สังคม” เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนขบวนการ
แม้ว่าเส้นทางการสร้างพื้นที่กลางจะเพิ่งเริ่มต้น แต่ถือเป็นก้าวย่างที่น่าจับตา มีความสำคัญและจำเป็นยิ่งในสถานการณ์ของการรุกไล่ประชิดในทุกทิศทางจากอำนาจต่างๆ ทั้งที่มองเห็น/ไม่เห็น ซ่อนเร้น อำพราง การปิดบัง ทำลายเครือข่ายภาคประชาสังคมจากรัฐและทุน พื้นที่กลางที่เปิดกว้าง การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ มีอิสระ เสรี ขยายพื้นที่-สนามที่กว้างออกไปเรื่อยๆ การสร้างวาทกรรมใหม่ด้วยชุดปฏิบัติการร่วม คือ ความหวังของการปกป้องปักษ์ใต้ที่ควบคู่ๆ ไปกับสร้างสังคมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยในความหมายที่แท้จริง
และเป็นอย่างที่ผู้นำท่านหนึ่งในที่ประชุมพื้นกลางว่าไว้ “เราต้องจัดการตนเอง ก่อนที่จะถูกจัดการ”
หมายเหตุ “MGR Online ภาคใต้”
ทั้งที่มีภารกิจมากมาย แต่ “รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์” คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ยังตอบตกลงด้วยความยินดีที่จะเขียนคอลัมน์ประจำให้กับ “MGR Online ภาคใต้” มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวตามชื่อคอลัมน์ที่ตั้งขึ้นคือ “ชุมคน-ชุมชน-คนใต้” โดยเบื้องต้นกำหนดจะเขียนให้ทุกเดือนเป็นอย่างน้อย ... โปรดติดตามอ่านกันต่อไป