สตูล - สหกรณ์จังหวัดสตูล กางแผน 4 นโยบายดำเนินงานปี 2561 ร่วมสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร
การเข้าสู่ระบบสหกรณ์นั้น เป็นการรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่วยกันซื้อ ช่วยกันผลิตสินค้า ซึ่งจะลดต้นทุนการผลิต เพิ่มอำนาจในการต่อรอง มีโอกาสเลือกซื้อสิ่งของที่มีคุณภาพมากกว่า ประหยัดกว่า เพราะมีการซื้อจำนวนมาก
นายกฤษฎา วรสถิตย์ สหกรณ์จังหวัดสตูล เปิดเผยนโยบายดำเนินงาน ปี 2561 ว่า ทางสหกรณ์จังหวัดสตูล เดินหน้าสนองนโยบายการทำงานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดย นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งได้มอบนโยบายให้สหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศดำเนินการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
โดยในปี 2560 มุ่งเน้นการผลักดันให้สหกรณ์ที่มีศักยภาพในการดำเนินงาน และผ่านการยกระดับความเข้มแข็งให้เตรียมพร้อมสำหรับการทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาการภาคเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ที่มุ่งหวังจะส่งเสริมการรวมกลุ่มประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สร้างความกินดีอยู่ดี และความเข้มแข็ง จึงให้เป็นปีแห่งการพัฒนาคน และยกระดับการบริหารจัดการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาระบบสหกรณ์ในปี 2561 ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.สร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์ และกลุ่มสหกรณ์ ซึ่งจะแบ่งภารกิจออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ การปฏิบัติงานตามภารกิจพื้นฐาน สำหรับสหกรณ์ทุกสหกรณ์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสตูล โดยมุ่งเน้นให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้สหกรณ์ ให้คำแนะนำการดำเนินงานต่างๆ ให้ความช่วยเหลือ และความร่วมมือกับสหกรณ์ในการสร้างความเข้มแข็ง และพัฒนาสู่การขับเคลื่อนงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนโยบายรัฐต่อไป
การตั้งคณะทำงานเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์ที่มีปัญหา โดยแบ่งคณะทำงานออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1.สหกรณ์ที่มีปัญหาหนี้ค้างนาน (มีค้างเกิน 5 ปี และถูกตั้งข้อสังเกตโดยผู้สอบบัญชี) 2.สหกรณ์ที่มีปัญหาขาดทุนสะสม และ 3.สหกรณ์ที่มีข้อบกพร่อง
2.ส่งเสริมให้สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็งมีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยจะคัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพ พร้อมในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาภาคการเกษตรและนำนโยบายที่สำคัญ และเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปส่งเสริมให้สหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์ในจังหวัดสตูล มีความพร้อมในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของกระทรวง และนโยบายของรัฐบาลหลายแห่ง เช่น ธนาคารสินค้าเกษตร ซึ่งมีธนาคารโค ที่ขับเคลื่อนงานร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสตูล ธนาคารปุ๋ย ซึ่งสนับสนุนกิจกรรมในสหกรณ์การเกษตรควนโดน จำกัด ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งมีการส่งสหกรณ์เข้าร่วมขับเคลื่อนงานตามนโยบาย
สำหรับปี 2561 ได้คัดเลือกสหกรณ์กองทุนสวนยางวังใหม่พัฒนา จำกัด เข้าสู่ระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ยางพารา และงานนโยบายอื่นๆ เช่น ศพก. ตลาดสินค้าเกษตร ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสตูล ได้ร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนงานมาอย่างต่อเนื่อง
3.สนับสนุนให้สหกรณ์ที่มีศักยภาพทำหน้าที่ในการยกระดับคุณภาพสินค้าการเกษตร ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสตูล ได้มีคณะทำงานเข้าส่งเสริม และสนับสนุนให้สหกรณ์มีศักยภาพ มีการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบครบวงจร นำเทคโนโลยี องค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาใช้ประโยชน์ รวมถึงการส่งเสริมให้สมาชิกผลิตสินค้าการเกษตรที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และแนะนำส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรด้วยการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีหลากหลาย ตรงต่อความต้องการของตลาด และมีการพัฒนาเรื่องบรรจุภัณฑ์ เช่น การผลิตและแปรรูปยางพารา และผลิตผลทางการเกษตร การสนับสนุนการผลิตสินค้าให้ได้รับมาตรฐาน GMP ของสหกรณ์กองทุนสวนยางวังใหม่พัฒนา จำกัด อ.ละงู การสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่กลุ่มอาชีพและสหกรณ์ เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
4.พัฒนาข้าราชการระบบการทำงานของกรมให้รองรับ และยกระดับงานด้านสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสตูล ได้มีการร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และองค์ความรู้ระหว่างผลงานวิชาการ และกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์กันอย่างสม่ำเสมอ ในรูปแบบของ Unit School เพื่อพัฒนาการทำงาน และเพิ่มศักยภาพให้แก่บุคลากรในสำนักงานมีความพร้อมในการเข้าส่งเสริม แนะนำ และดูแลสหกรณ์ต่อไป
นายกฤษฎา วรสถิตย์ สหกรณ์จังหวัดสตูล เปิดเผยอีกว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือ ราคายางตกต่ำ สมาชิกก็จะกู้เงิน และไม่มีเงินในการชำระ เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ส่วนนี้ทางสหกรณ์จังหวัดก็เข้าไปแนะนำในการปรับโครงสร้างหนี้ให้สมาชิกชะลอการชำระเงิน ส่งเสริมอาชีพ และให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือสมาชิก
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเชิญชวนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบสหกรณ์นั้น ทางสหกรณ์จังหวัดสตูลเองก็ต้องประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจข้อดีของการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์เป็นระบบที่ยั่งยืน มีกฎหมายรองรับ เมื่อรวมกันเป็นสหกรณ์ รัฐบาลก็สนับสนุนได้ง่ายขึ้น สำหรับสหกรณ์ในพื้นที่ จ.สตูล มีทั้งสิ้นรวม 49 แห่ง แยกเป็นประเภทสหกรณ์การเกษตร, สหกรณ์ออมทรัพย์, สหกรณ์ร้านค้า, สหกรณ์บริการ และกลุ่มเกษตรกร รวมสมาชิก 66,663 ราย