ตรัง - เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ซัดอธิบดีกรมอุทยานฯ ให้ข้อมูลไม่ชัดเจน พูดโคมลอย ทั้งๆ ที่ชาวบ้านร่วมอนุรักษ์พะยูนเข้มแข็ง แค่ทราบข่าวว่าพะยูนป่วยก็ช่วยกันเต็มที่ จะกิน ซื้อขายคงเป็นไปไม่ได้ เตรียมกำหนดท่าทีเพิ่มการทำงาน วอนหน่วยงานรัฐอย่าเกียร์ว่าง มีเครื่องมือครบแต่กลับไม่ลงมือทำ
กรณีที่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลในการอนุรักษ์พะยูน และอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลระดับประเทศ ถึงสถานการณ์พะยูนในประเทศไทยจัดอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนักในเรื่องที่อยู่อาศัย และการทำลายแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งคาดว่าในน่านน้ำไทยมีพะยูนไม่เกิน 200 ตัว และมีอยู่ในเขตห้ามล่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ประมาณ 130-150 ตัว โดยกลุ่มผู้ล่าพะยูนมีความเชื่อว่า กระดูกพะยูน สามารถนำไปทำยาโด๊ป เขี้ยวนำไปทำของขลัง ส่วนเนื้อนำไปปรุงอาหารเป็นเมนูพะยูนผัดเผ็ด
ล่าสุด มีการเสนอข่าวย้ำกล่าวอ้างว่า เป็นแหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ว่า เรื่องขบวนการล่าพะยูน และนำเนื้อ อวัยวะมาขายมีอยู่จริง พร้อมอ้างว่า แหล่งที่มีการซื้อขายกันนั้นคือ พื้นที่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง โดยชาวประมงบางกลุ่มในพื้นที่ ทั้งล่า และนำซากพะยูนที่ติดเครื่องมือประมงขึ้นฝั่งโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ แล้วนำไปแล่เนื้อออกเป็นส่วนๆ ทั้งกระดูก และเขี้ยวแยกออก ซึ่งเป็นอวัยวะที่แพงที่สุด เป็นที่ต้องการของตลาด ขายกันในกิโลกรัมละถึง 10,000 บาท เพราะเชื่อว่ากระดูกสามารถนำมาผสมเป็นยารักษาโรคมะเร็งได้ ส่วนเนื้อนั้น ขายในกิโลกรัมละ 150 บาท นำไปประกอบเมนูพื้นบ้านแกงคั่วที่มีรสชาติเผ็ดจัด และกำลังเป็นที่นิยม โดยแหล่งข่าวคนดังกล่าวอ้างว่า หลังจากมีการล่อซื้อได้มีการส่งชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต และได้รับการยืนยันว่า เนื้อดังกล่าวเป็นเนื้อพะยูนจริงๆ ตามข่าวก่อนหน้านี้นั้น
ซึ่งวันนี้ (18 ต.ค.) ที่มูลนิธิอันดามัน อ.เมือง จ.ตรัง นายอะเหร็น พระคง ประธานเครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง และนายสะมาแอล เบญสะอาด เลขานุการชมรมฯ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ และเสียกำลังใจมากที่สุด ตลอดเวลาเกือบ 30 ปี ชมรมประมงพื้นบ้าน ร่วมกับชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวเกาะลิบง อ.กันตัง ทุกครัวเรือนร่วมมือกันทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องพะยูนให้อยู่รอดปลอดภัย แทบจะเรียกได้ว่า พะยูนคือชีวิตของชาวเล ชาว จ.ตรัง ก็ว่าได้ ขบวนการล่าพะยูน ยอมรับว่ามีอยู่จริง แต่เกือบ 30 ปีมาแล้ว และเป็นกลุ่มที่อยู่นอกพื้นที่ ปัจจุบันไม่มีใครกล้าทำแบบนั้นแล้ว เพราะชาวบ้านมีการรณรงค์ มีจิตสำนึก และมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็ง มีการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน และขอวิงวอนว่าท่านอธิบดีฯ อย่างพูดโคมลอยไร้หลักฐาน เพราะจะเป็นการบั่นทอนความตั้งใจของคนทำงานในพื้นที่
ประธานเครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง กล่าวว่า เมื่อสิบปีที่แล้ว พะยูนในท้องทะเลไทยมี 120 ตัว แต่จากการบินสำรวจข้อมูลเมื่อ เม.ย.2559 พบพะยูนเพิ่มขึ้นเป็น 169 ตัว และยังพบคู่แม่ลูกอีก 10 คู่ อีกทั้งหญ้าทะเลก็เพิ่มขึ้นจาก 20,000 ไร่ เป็นกว่า 30,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในพื้นที่ ต.เกาะลิบง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท่านอธิบดีฯ พูดให้ข่าวนั้นอาจเป็นข้อมูลเก่า แต่ทางเครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน เพราะหากมีข้อมูลแล้วก็ขอให้ทางกรมอุทยานฯ หาวิธีการดูแลพะยูนอย่างจริงจัง อย่าแค่พูดเพื่อให้รู้ปัญหาแล้วไม่หาทางแก้ เพราะจะเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่
โดยหลังจากนี้ เครือข่ายประมงพื้นบ้านฯ จะหารือร่วมกันเพื่อกำหนดท่าที เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบ เพราะที่ผ่านมา ต้องบอกว่ากระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐหละหลวม ไม่มีความเด็ดขาด มีกฎหมายอยู่ในมือแต่ไม่เคยใช้ให้มีประสิทธิภาพ เครือข่ายประมงพื้นบ้าน และชาวบ้าน ทำได้แค่ทีมเสริม ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่มีกฎหมาย มีแค่ใจที่ต้องการจะช่วยให้ดูแลให้ดีที่สุด ซึ่งหลังจากนี้ คงได้มีการคุยกัน โดยอาจจะมีการเชิญท่านอธิบดีฯ ลงมาพื้นที่เพื่อได้เห็นข้อมูลข้อเท็จจริงว่าคนพื้นที่เขาทำงานกันอย่างไร เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน