xs
xsm
sm
md
lg

จากบ้าน “หนังตะลุง” สู่บ้าน “มโนราห์” แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ควรมาเยือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
“หนังตะลุง” และ “มโนราห์” คือศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ นับเป็นมหรสพที่นิยมอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะในงานบุญ และงานศพ รวมทั้งงานแก้บน

อย่างไรก็ตาม ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ศิลปะการแสดงพื้นบ้านเหล่านี้จึงย่อมได้รับผลกระทบตามมา โดยเฉพาะในยุคที่โทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือมีอิทธิพลแผ่เข้าไปถึงทุกบ้านในเวลานี้ หลายหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรม จึงได้พยายามหาทางช่วยเหลือ และส่งเสริมศิลปะการแสดงพื้นบ้านทั้ง 2 แขนงนี้ให้คงอยู่สืบไป
 

 
หนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจก็คือ การเปิดบ้านหนังตะลุง เพื่อให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชม และทำกิจกรรมต่างๆ เหมือนอย่างเช่น ที่บ้านของ นายณรงค์ จันทร์พุ่ม ซึ่งชาวใต้จะให้สมญาว่า “หนังอาจารย์ณรงค์ ตะลุงบัณฑิต” เพราะเรียนจบปริญญาตรี จากวิทยาลัยการศึกษาบางแสน (มหาวิทยาลัยบูรพา) และเคยรับราชการเป็นครูมายาวนาน

รวมทั้งยังได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ประจำปี 2557 ซึ่งบ้านหลังนี้ตั้งอยู่เลขที่ 36/72 ถนนขื่อนา ในเขตเทศบาลเมืองกันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง ที่มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่เศษ
 

 
ด้วยความรักชอบในการเล่นหนังตะลุงมาตั้งแต่วัยเยาว์ โดยได้เรียนรู้ และจำจากคุณตาบ้าง หรือการสอบถามจากผู้รู้บ้าง กระทั่งเมื่อมารับราชการอยู่ที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ และได้สอนวิชาหน้าที่พลเมืองศีลธรรม จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเล่นหนังตะลุงอย่างจริงจัง แบบผสมผสานกับวิชาการ

โดยเน้นความต้องการ และระดับการรับรู้ของผู้ชมในท้องถิ่น ทำให้เป็นที่สนใจ และรู้จักอย่างกว้างขวาง จึงได้เข้ารับพระราชทานโล่ และเข็มเกียรติคุณอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2537
 

 
อาจารย์ณรงค์ บอกว่า สำหรับผู้ที่เข้ามาเยือนบ้านหนังตะลุง จะได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของหนังตะลุง ตลอดจนชมอุปกรณ์การแสดง และพัฒนาการของโรงหนังตะลุง (เวทีการแสดง) นับตั้งแต่ยุคเก่า ยุคกลาง มาจนถึงยุคใหม่

รวมทั้งการแกะสลัก และชมตัวหนังตะลุง ที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคของตัวละคร ตลอดจนเรียนรู้บทกลอน และเนื้อหาสาระของตัวละครที่นำมาใช้ในการแสดง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเริ่มกลับมาให้ความสนใจหนังตะลุงกันมากขึ้น จนเป็นพลังสำคัญในการอนุรักษ์ไว้สืบไป
 

 
ทั้งนี้ นอกจากบ้านหนังตะลุงแล้ว กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานต่างๆ ก็ยังสนับสนุนให้เปิดบ้านมโนราห์ขึ้น ในพื้นที่ ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง โดยมีคุณครูราตรี หัสชัย อดีตครูโรงเรียนวัดไทรทอง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดัน

เนื่องจากชุมชนแห่งนี้มีคณะมโนราห์ หรือโนรา ซึ่งยังคงรักษาศิลปะการร่ายรำอย่างงดงาม ตามแบบโบราณอยู่ถึง 8 คณะ จนเรียกได้ว่ามากที่สุดของประเทศไทย โดยคณะแรกคือ มโนราห์คลิ้งไสนาว ซึ่งเคยรำถวายรัชกาลที่ 6 ครั้งเสด็จประพาสเมืองตรัง
 

 
เนื่องจากปัจจุบันนี้จะหาโอกาสชมมโนราห์ได้น้อยมาก เพราะงานรื่นเริงต่างๆ มีการว่าจ้างน้อยลง แต่หลังจากที่ทุกฝ่ายได้มีการส่งเสริมศิลปะการแสดงพื้นบ้านแขนงนี้อย่างจริงจัง และมีการเปิดบ้านมโนราห์ เพื่อฝึกลูกหลานให้รำมโนราห์ จนมีความรู้ทางศิลปะการแสดงพื้นบ้านชนิดนี้ไม่น้อยกว่า 200 คนแล้ว

ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของภาคใต้ ที่เชิญชวนให้ผู้คนต่างถิ่นเข้ามาเยือน และส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้สามารถคว้ารางวัลในระดับต่างๆ มาแล้วอย่างมากมาย โดยเฉพาะงานวิจัยดีเด่นปี 2549 ของ สกว.
 

 
คุณครูราตรี เล่าว่า จุดเด่นของมโนราห์ที่ชุมชนแห่งนี้ก็คือ มีท่ารำที่อ่อนช้อย ตามแม่ท่าสิบสองท่า และแม่บทแบบดั้งเดิม โดยไม่มีการดัดแปลง พร้อมทั้งยังคงรักษาไว้ซึ่งความทะมัดทะแมงตามลักษณะท่ารำที่ดี

ขณะที่ดนตรีก็น่าฟัง ไม่ช้าไม่เร็วจนเกินไป ทำให้การรำสวยงามน่าดูมากยิ่งขึ้น จนทำให้เด็ก และเยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาเรียนรู้ หรือเอาดีทางศิลปะการแสดงพื้นบ้านชนิดนี้กันเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ปกครอง นักวิจัย รวมทั้งนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาชม และกลายเป็นจุดสนใจเรียนรู้มโนราห์ในที่สุด นับเป็น 2 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ควรมาเยือนอย่างยิ่ง
 



กำลังโหลดความคิดเห็น