xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนห้วยยอดขานรับนโยบายรัฐบาล หันปลูก “ไผ่เลี้ยงหวาน” ทดแทนยางรายได้งาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - เกษตรกรชาวสวนยาง ใน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง หลายรายขานรับนโยบายลดพื้นที่ปลูกยางพาราของรัฐบาล ด้วยการหันมาปลูก “ไผ่เลี้ยงหวาน” หรือไผ่รวก ขายได้ทั้งต้นพันธุ์ หน่อไม้ และลำต้น จนสร้างรายได้ให้อย่างงดงาม

วันนี้ (28 ก.ค.) นายประเสริฐ สมาธิ อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 2 หมู่ที่ 5 ต.นาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ใช้พื้นที่ประมาณ 8 ไร่ ปลูกไผ่เลี้ยงหวาน หรือไผ่รวก แซมระหว่างร่องสวนยางพารา เพื่อหารายได้ระหว่างรอการเปิดกรีด ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 7 ปีครึ่ง หลังจากได้เดินทางไปศึกษาดูงานถึงประเทศเวียดนามมาแล้ว จึงนำกลับมาปลูกเป็นรายแรกใน จ.ตรัง เมื่อปี 2555 จำนวน 600 ต้น และเพียง 3 เดือน ก็สามารถทยอยตัดหน่อไม้ขายได้ ในราคาหน่อสดกิโลกรัมละ 20 บาท ลอกเปลือกแล้วกิโลกรัมละ 30 บาท และหากต้มสุกแล้วจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท

โดยเพียง 1 ปี สามารถขายหน่อไม้ได้เงินนับแสนบาท อีกทั้งเมื่อไผ่เลี้ยงหวานย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ก็เริ่มตัดขายได้ พร้อมต้นพันธุ์ และหน่อไม้ สร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าตัว หรือกว่า 200,000 บาท และเพิ่มมากขึ้นในปีต่อมา ปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท จนสามารถส่งลูกทั้ง 2 คน ให้เรียนจบในระดับปริญญาตรีได้อย่างสบาย
 

 
สำหรับต้นไผ่ที่มีอายุ 2 ปี มีความยาวประมาณ 2.50-3 เมตร ขายลำละ 10 บาท ซึ่งมีเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ เนื่องจากเกษตรกรนิยมนำไปเป็นราวตากยางแผ่นดิบ ขณะที่โรงรมยางหลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนลำไผ่ที่ใช้ตากยางแผ่น และต้องสั่งซื้อปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 ต้น จากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสทองของเกษตรกรผู้ปลูกไผ่เลี้ยงหวานที่มียอดสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีคุณสมบัติดีคือ เป็นไผ่ข้อตัน ไม่กลวง แข็งแรง และทนทานกว่าไผ่ชนิดอื่น ดูแลง่าย ส่วนใบไผ่ยังเป็นปุ๋ยชั้นดีในดินได้อีกทางหนึ่งด้วย

โดยปลูกแล้วสามารถขายได้ทั้งต้นพันธุ์ หน่อไม้ และลำต้น ขณะที่การยางแห่งประเทศไทย สาขาตรัง ก็ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกแซมในสวนยางพารา พร้อมสนับสนุนเงินกู้ระยะยาว ตามนโยบายลดการปลูกยางพาราของรัฐบาล ทำให้เกษตรกรกว่า 10 ราย ในพื้นที่ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง หันมาปลูกไผ่เลี้ยงหวานกันเพิ่มมากขึ้น
 


กำลังโหลดความคิดเห็น