xs
xsm
sm
md
lg

หัวหน้าผู้แทนพิเศษรัฐบาลลงเยี่ยมชมโครงการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - หัวหน้าผู้แทนพิเศษรัฐบาล เปิดงาน “ศอ.บต. สานพลังประชารัฐ พัฒนา จชต.ก้าวไกล สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และเยี่ยมชมโครงการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

วานนี้ (20 ก.ค.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานเปิดงาน “ศอ.บต. สานพลังประชารัฐ พัฒนา จชต.ก้าวไกล สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อรวมพลเครือข่ายมวลชนทุกภาคส่วน มารับทราบแนวทาง และผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมกับเยี่ยมชมโครงการเลี้ยงแพะ ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ม.2 บ.ปายอ ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา โดยมี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. ชี้แจงถึงภาพรวมของการขับเคลื่อนเมืองปศุสัตว์ และโครงการ 3 ดำ 1 ทอง

นายธัญญา สุขย้อย ปศุสัตว์จังหวัดยะลา กล่าวถึงความต้องการด้านการตลาดเฉพาะในประเทศที่มีความต้องการมากถึง 2,500 ตัว ขณะที่กำลังผลิตในพื้นที่มีเพียง 1,000 กว่าตัวเท่านั้น จากนั้น หน.ผทพ.มอบใบรับรองการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจการเลี้ยงแพะเนื้อ ให้แก่ นายมะ อาแด ประธานกลุ่มเลี้ยงแพะบ้านปายอ และผู้แทนกลุ่มเลี้ยงแพะบ้านป่าหวัง บันนังสตา และนายมะ อาแด นำชมโรงเรือนแพะเนื้อ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน
 

 
จากนั้น ทางคณะของหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลได้เดินทางไปเยี่ยมสถาบันศึกษาปอเนาะอาซีซียะห์ วิทยา ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา การเรียนการสอนที่ปอเนาะแห่งนี้แยกการเรียนการสอนระหว่างเด็กที่จบ ป.6 ม.3 ม.6 และมหาวิทยาลัย โดยใช้ระบบพี่สอนน้อง นอกจากนั้น ยังมี กศน.เข้ามาจัดการเรียนการสอนสายสามัญ เพื่อทำให้เด็กได้วุฒิตามที่กำหนด

และต่อด้วยการเยี่ยมชม “โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ วังพญา-ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา” ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จชต. และขอรับพระราชทานความช่วยเหลือให้มีงานทำในพื้นที่อย่างปลอดภัย จึงได้จัดหาพื้นที่ตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ณ รอยต่อระหว่าง ต.ท่าธง และ ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 245 ไร่ สมาชิกโครงการมีทั้งไทยพุทธ และมุสลิม รวม 216 คน มีการดำเนินงานทั้งการเพาะปลูกพืชผัก การเพาะเห็ด การประมง การปศุสัตว์ และจำหน่ายผลผลิตในหลายพื้นที่ สามารถทำให้ราษฎรมีอาชีพเพิ่มรายได้ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจอีกด้วย
 

 
สำหรับ “โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบการปลูกอ้อยคั้นน้ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่ 3 จชต.” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือพัฒนาระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บริษัทน้ำตาลมิตรผล และชาวบ้านจำปูน ม.6 ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่มีความไม่สงบ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ จึงสนับสนุนที่ดินซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ฝึกงานของนักศึกษาให้แก่ชาวบ้าน และให้คำแนะนำพร้อมดูแลการปลูก ส่วนบริษัทน้ำตาลมิตรผล สนับสนุนพันธุ์อ้อย และปุ๋ย เมื่อขายได้จะแบ่งกำไรส่วนหนึ่งเป็นกองทุนสวัสดิการต่างๆ ของชุมชน เช่น การบำรุงมัสยิด ตาดีกา และช่วยเหลือเด็กกำพร้า ขณะนี้โครงการยังมีการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากอ้อยในรูปแบบต่างๆ
 



กำลังโหลดความคิดเห็น