xs
xsm
sm
md
lg

คืนทุนเร็ว-กำไรงาม ภาค 8 เก้าอี้แพงลิบ หึ่งหักแล้วยังส่งได้เกิน 30 ล้านต่อเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR Online - ชำแหละที่มาราคาเก้าอี้ภาค 8 แพงลิบลิ่วจนกลายเป็นข่าวดัง แถมลือกันสะพัดบางพื้นที่สูงระดับ 15-20 ล้าน ล้วนอุดมไปด้วยธุรกิจสีเทา ช่องทางคืนทุนเร็ว-กำไรงาม เผยบางหน่วยหักส่วนแบ่งตามลำดับชั้นแล้ว ยังมีส่งถึงระดับบนสุดไม่ต่ำกว่า 30 ล้านต่อเดือน ปีละ 360 ล้านเห็นๆ

หลัง นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตแกนนำ กปปส.และอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมาแฉถึงการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ระดับสารวัตร รองผู้กำกับการ ผู้กำกับการ และรองผู้บังคับการ ของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 (บช.ภ.8) ที่มีตัวเลขสูงลิ่ว

โดยระดับผู้กำกับ อยู่ที่ 5-7 ล้านบาท ระดับสารวัตร 1.5-2 ล้านบาท รวมเป็นเงินสำหรับการวิ่งเต้นตำแหน่งในครั้งล่าสุดไม่น่าจะต่ำกว่า 50 ล้านบาท

กระทั่งเป็นเหตุทำให้ พล.ต.ท.เทศา ศิริวาโท ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ถูกเด้งฟ้าผ่าให้ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนเกษียณอายุราชการในอีกไม่กี่เดือนนี้ พร้อมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงอยู่

การซื้อขายตำแหน่งเป็นข่าวคราวอื้อฉาวมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเที่ยวนี้มีเสียงเล่าลือกันทั่วว่า แรงกว่าทุกครั้ง นักวิ่งต้องแข่งกันวิ่งเข้าบ้าน 4 หลัง ที่เพิ่งถอยเบนซ์ป้ายแดงมาหลังละ 2 คันเมื่อไม่นานมานี้ โดยต้องซื้อทั้งตั๋วไป ตั๋วกลับ และทุกระดับชั้นทั้งสัญญาบัตร ยันชั้นประทวน

ว่ากันว่า แม้แต่ตำรวจชั้นประทวนนายหนึ่งที่ขอย้ายกลับภูมิลำเนาในอำเภอไกลปืนเที่ยงของภาคอีสาน หลังจากปฏิบัติราชการในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนมาเกือบ 20 ปี ยังต้องซื้อตั๋วเฉียด 1 แสนบาท

ขณะเดียวกัน ข่าวการซื้อขายตำแหน่งในพื้นที่ บช.ภ.8 ก็สร้างความกังขาให้แก่สังคมเช่นกันว่า ทำไมเก้าอี้ในภาค 8 ถึงมีราคาสูงลิ่วแบบนี้ แล้วเม็ดเงินเหล่านั้นมาจากไหน

ซึ่งที่จริงแล้ว นี่ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องแปลก..!! เพราะที่นี่เป็นเหมือนพื้นที่ที่คนในไม่อยากออก คนนอกอยากเข้า จึงต้องวิ่งเต้นช่วงชิงกันอุตลุด และเกาะเก้าอี้ของตัวเองให้แน่น นานที่สุดเท่าที่ทำได้

เพราะพื้นที่รับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 8 กินอาณาบริเวณครอบคลุมภาคใต้ตอนบนทั้งหมด ไล่มาตั้งแต่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ รวมไปถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งล้วนแต่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และเป็นพื้นที่ไม่มีปัญหาความไม่สงบเหมือนภาคใต้ตอนล่าง มีแต่คดีทั่วๆไป นานๆ ครั้งถึงจะมีคดีใหญ่ๆ

แต่สิ่งสำคัญ และน่าจะเป็นตัวดึงดูดให้หลายคนวิ่งเต้นขอย้าย ขอตำแหน่งเข้ามาอยู่ในพื้นที่ คือ ผลประโยชน์มหาศาลที่ซุกซ่อนอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะ “ฝั่งอันดามัน” ที่ว่ากันว่า บางตำแหน่งราคาโดดขึ้นไประดับ 15-20 ล้านบาทก็มี

และถ้ากางแผนที่สำรวจอาณาเขตแล้ว จะพบว่า พื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนมีแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังติดอันดับโลกหลายแห่ง ทั้งเกาะภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เขาหลัก จ.พังงา และจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่นิยมเดินทางมาพักผ่อนปีละเป็นสิบๆ ล้านคน สร้างรายมหาศาลในแต่ละปี

การเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ทำให้มีธุรกิจเกิดขึ้นตามมามากมาย ทั้งที่เป็นธุรกิจสีขาว ธุรกิจสีเทา ตลอดไปจนธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะธุรกิจสีเทา และธุรกิจผิดกฎหมาย กลายเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาเรียกเก็บผลประโยชน์ได้เป็นกอบเป็นกำ เพื่อตัวเอง และนายที่สนับสนุนให้ได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่

“ภูเก็ต สมุย และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ค่าครองชีพสูงกว่าพื้นที่ทั่วไป แต่ทำไมทุกคนถึงอยากเข้ามา เพราะพื้นที่เหล่านี้พวกเขาสามารถหาผลประโยชน์ได้มากกว่าเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือน ยกตัวอย่าง เงินเดือนตำรวจชั้นประทวน หมื่นกว่าบาท ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านในภูเก็ตไม่ต่ำกว่า 8 พันบาท เหลือไม่กี่พันบาท ถ้าไม่มีเงินนอก หรือเงินพิเศษเขาจะอยู่ได้อย่างไร ใครๆ ก็ไม่อยากวิ่งเข้ามา แต่ที่อยากจะเข้ามากันนักหนา เพราะเงินนอกที่ได้รับต้องมากกว่าเงินเดือนอย่างแน่นอน” แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดวงการตำรวจรายหนึ่ง ระบุ

แต่จะว่าไปแล้ว พื้นที่ภาค 8 ก็ใช่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีผลประโยชน์มากกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างกรณีของภาคใต้ตอนล่าง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของภาค 9 ก็มีผลประโยชน์ไม่ยิ่งหย่อนไม่กว่ากัน มีธุรกิจให้เจ้าหน้าที่รัฐได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไม่แพ้กัน แถมอาจมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะมีทั้งสินค้าเถื่อน น้ำมันเถื่อน แต่สิ่งเหล่านั้นทำโดยเปิดหน้าทำ คนท้องถิ่น-ตำรวจ รู้ว่าใครทำ

เพียงแต่ในพื้นที่ภาค 8 อาจจะมีกระบวนการที่แยบยลกว่ามาก ธุรกิจสีเทา ธุรกิจผิดกฎหมายทำกันแบบไม่ออกหน้า การเข้าไปหาผลประโยชน์จากธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้เข้าไปชน ไม่เข้าไปทำ แต่จะเข้าไปในลักษณะของการแอบแฝง ทำให้เกิดการเรียกรับสินบน หรือเก็บส่วย ในลักษณะที่ว่าถ้าใครอยากทำธุรกิจสีเทา ก็ต้องใช้หาผู้มีอำนาจมาเป็นเกราะกำบัง

ซึ่งว่ากันตามจริงไม่ได้มีแค่หน่วยเดียวที่เรียกเก็บ แต่มีหลายหน่วยมาก จากเมื่อก่อนมีการพูดกันว่า ต้องจ่ายส่วยให้ 16 หน่วยงานภาครัฐ แต่ปัจจุบันอาจจะมีมากถึง 24 หน่วยด้วยซ้ำ

และยอดเงินที่ไหลเวียนจากธุรกิจสีเทา ธุรกิจผิดกฎหมายใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน อาจจะมากเกินกว่าคำว่า “น่าตกใจ” ก็เป็นได้ เพราะว่ากันว่า เม็ดเงินที่ส่งขึ้นไปถึงมือคนที่นั่งคุมพื้นที่อยู่บนสุดของ 1 ใน 24 หน่วยที่ว่านี้ เมื่อหักส่วนแบ่งตามระดับชั้นแล้ว อาจจะมากกว่า 30 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละกว่า 360 ล้านบาทขึ้นไป

แน่นอนว่านั่นเป็นยอดตัวเลขที่ส่งขึ้นไปถึงส่วนบนสุดของพื้นที่ ยังไม่รวมส่วนแบ่งตามระดับชั้นเหมือนน้ำผึ้งที่ต้องติดมือคนคั้นเป็นธรรมดา

ไม่เพียงเท่านั้น บางรายก็อาจจะมีผลประโยชน์ในลักษณะของการทำธุรกิจแฝง โดยมี “นอมินี” ออกหน้า พร้อมมาตรการไม่จ่าย จับ บังคับซื้อ เป็นต้น

แหล่งข่าวรายเดิมระบุต่อว่า นอกจากนี้ บางสายยังตั้งกลุ่มนักบิน คอยบินโฉบเรียกเก็บส่วยตามธุรกิจสีเทาทั้งหมดที่กระจายอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยว ทั้งขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ธุรกิจที่ฝ่าฝืน และผิดกฎหมาย คนต่างชาติ สถานบันเทิง แม้กระทั่งบ่อนการพนัน ที่ต้องยอมจ่ายเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้

เรื่องนี้เกิดขึ้นในทุกแหล่งท่องเที่ยว ที่เห็นชัดๆ และเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ อย่างกรณีของสถานบันเทิง บาร์ต่างๆ รวมถึงร้านจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในเมืองป่าตอง ที่มีการนำโพยเรียกเก็บผลประโยชน์ หรือส่วยของเจ้าหน้าที่รัฐออกมาเปิดเผยกันอยู่เนืองๆ ถึง 24 หน่วย ทั้งในพื้นที่ภูเก็ต ภาค 8 และส่วนกลาง

“ไม่ต้องอะไรมาก แค่เก็บร้านละ 3 พันบาท จากสถานบันเทิง และบาร์ที่มีอยู่ประมาณ 900 แห่งในป่าตอง แต่ละเดือนจะมีเงินพิเศษไม่ต่ำกว่า 27 ล้านบาท นี่แค่สถานบันเทิงเพียงธุรกิจเดียว ถ้ารวมธุรกิจสีเทา สีดำ ทั้งหมดในภูเก็ต และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในพื้นที่ ลองนึกดูว่าแต่ละเดือนจะมีรายได้พิเศษ หรือส่วยเหล่านี้เกิดขึ้นมากแค่ไหน”

ดังนั้น การวิ่งเต้นจ่ายเงินเพื่อขอตำแหน่ง จึงไม่ใช่สิ่งที่เกินความคาดหมาย และไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยนี้ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานจนกลายเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้มีเฉพาะในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 8 เท่านั้น แต่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ทุกวงการ เพราะประโยชน์ที่จะได้รับคุ้มค่าต่อการลงทุน และคืนทุนได้ไม่ยาก





กำลังโหลดความคิดเห็น