ยะลา - “พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์” โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงชี้แจงแนวทางดำเนินการโครงการ “พาคนกลับบ้าน” หลังพบว่าประชาชนในพื้นที่บางส่วนยังไม่เข้าใจ และนำไปวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง
จากกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีใจความของข้อความ ดังนี้
“เรียนท่านแม่ทัพภาค 4 และคณะท่าน กอ.รมน.ส่วนหน้า ดิฉัน น.ส.นำรุ่ง รุ่งกิจประการ ขออนุญาตทักท้วงเกี่ยวกับโครงการพาโจรกลับบ้านของท่าน ดิฉันเห็นด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ท่านก็ต้องมีโครงการที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ด้วยการพาคนไทยพุทธ ที่หนีโจรไปอยู่ที่อื่น กลับบ้านด้วยกลับมาแล้ว ท่านต้องให้ความมั่นใจว่าต้องปลอดภัย
ท่านเอาหลักรัฐศาสตร์มาใช้กับพี่น้องมุสลิม แต่ท่านเอาหลักนิติศาสตร์มาใช้กับพี่น้องคนไทย ไม่ยุติธรรม ท่านให้ความสำคัญกับโจรที่เขาตั้งใจทำผิด แต่ท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับพี่น้องคนไทยพุทธที่ทำมาหากินในพื้นที่ ท่านหาที่ทำกิน หางานให้โจรกลับใจ ให้ทุกอย่าง แม้ว่าจะเป็นผลในทางลับอะไรก็แล้วแต่ แต่ภาพออกมา แม้แต่พี่น้องมุสลิมเองก็ยังรับไม่ได้ ภาพที่ออกมาเท่ากับท่านสนับสนุนให้คนเป็นโจร เพราะทำแล้วไม่มีความผิด มอบตัวแล้วอยู่สบาย
ถ้าคนไทยออกมาทำบ้าง ท่านก็คงใช้หลักนิติฯ ออกมาจัดการ และในเรื่องของการค้าขาย การรับเหมางานในพื้นที่ ท่านก็ให้กับกลุ่มเฉพาะพี่น้องมุสลิม การกว้านซื้อที่ดินก็เช่นกัน เงินที่ไหลเข้ามาในทางการบริจาคมาซื้อที่ดิน ซื้อการค้า ซื้อบ้านพาณิชย์แทรกแซง ในราคาที่แพงเกินความเป็นจริง ปั่นราคากันสูงมาก ทำให้พี่น้องคนไทยที่เงินน้อยโอกาสที่จะมีบ้านมีการค้าก็ทำไม่ได้ ท่านลืมเรื่องแบบนี้ไป งบประมาณที่มีน่าจะนำมาซื้อที่ดินให้พี่น้องคนไทยที่ยากจนและไม่มีที่อยู่อาศัย ได้มีโอกาสซื้อดินทำบ้านในราคาถูกๆ ผ่อนชำระ เปิดโอกาสให้พี่น้องคนไทยลืมตาอ้าปากได้บ้าง
ในขณะเดียวกัน นโยบายที่คงไว้เป็นสิทธิพิเศษ ในเรื่องของการสอบเข้าทำงาน ขอให้ท่านทำให้เสมอภาค ท่านกลัวอำนาจมืดหรืออย่างไร? ถึงเปิดโอกาสให้แต่พี่น้องมุสลิมด้านเดียว พี่น้องมุสลิมที่เขามีความยุติธรรม เขาก็ไม่เห็นด้วย และยังมีอีกหลายหัวข้อที่ขอติติงทักท้วงมายังคณะท่าน สิ่งที่ขอคือ ความยุติธรรมเสมอภาค
1.ในการทำงาน 2.ในการให้งานในการจัดการทั้งมวล ขอสองหลักที่ท่านนำมาใช้ในสามจังหวัด ใช้ให้เสมอภาคเถิดค่ะ ขอบพระคุณค่ะ ขอแสดงความนับถือ ลงชื่อ น.ส.นำรุ่ง รุ่งกิจประการ ผู้อำนวยการโรงเรียนแสงวิจิตร ยะลา”
ซึ่งภายหลังที่แม่ทัพภาค 4 ทราบเรื่องดังกล่าว ในวันนี้ (20 มิ.ย.) เวลา 14.00 น. ที่ห้องแถลงข่าว ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีกระแสข่าวในสื่อออนไลน์ต่อต้านนโยบาย และการดำเนินโครงการพาคนกลับบ้านว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มโจรใต้ โดยเฉพาะกรณีหนังสือของ น.ส.นำรุ่ง รุ่งกิจประการ ผู้อำนวยการโรงเรียนแสงวิจิตร ยะลา ที่ได้แสดงความคิดเห็นโดยขาดพื้นฐานความรู้ และความเข้าใจในนโยบายแห่งรัฐ โดยเฉพาะโครงการพาคนกลับบ้าน และได้มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางทำให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจ ดังนี้
1.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยินดีรับฟัง และให้การเคารพในทุกความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ที่เป็นประโยชน์ในการนำมาเป็นแนวทางปรับปรุงการแก้ไขปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นดังกล่าวต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง เป็นไปได้ สมเหตุสมผล และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง โดยตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้โอกาสต่างๆ เช่น การสอบเข้าทำงาน การรับงานจ้างในพื้นที่ เป็นต้น
2.โครงการพาคนกลับบ้าน เป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน โดยมีหลักการ และเหตุผลที่สำคัญเพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐที่ต้องการยุติการใช้ความรุนแรง มาต่อสู้ในแนวทางสันติด้วยการช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย และปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด ความเชื่อที่ถูกบิดเบือนให้ใช้ความรุนแรงแบบสุดโต่งต่อพี่น้องประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนา ทั้งนี้ ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ให้งานทำ ให้ที่ดินทำกิน ให้ค่าตอบแทน หรือไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย จึงเห็นได้ว่าไม่เป็นไปตามที่ น.ส.นำรุ่ง กล่าวอ้างแต่อย่างใด
3.ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้รับกระแสตอบรับจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรระหว่างประเทศ เพราะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธีที่ไม่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล ตลอดจนทำให้ผู้เห็นต่างจากรัฐมีความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ และกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น โดยมีผู้เข้ารายงานตัวแสดงตนแล้วกว่า 4,500 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการช่วยแจ้งข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ที่สามารถนำไปสู่การป้องกัน และระงับเหตุร้าย รวมทั้งสามารถขยายผลไปสู่การติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เข้าไปพบปะสร้างความเข้าใจกับ น.ส.นำรุ่ง รุ่งกิจประการ ผู้อำนวยการโรงเรียนแสงวิจิตร จ.ยะลา (โรงเรียนสอนตัดเสื้อผ้า) ซึ่งได้เข้าใจนโยบายดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งยินดีเข้ามามีส่วนร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป