xs
xsm
sm
md
lg

“เตาอั้งโล่” ขายดีชาวใต้ยังนิยมใช้ปรุงอาหาร จนผลิตไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ชาวภาคใต้ยังคงนิยมใช้ “เตาอั้งโล่” หรือเตาถ่านในการปรุงอาหาร ทั้งหุง ต้ม ปิ้ง ย่าง เพราะได้รสชาติที่หอมอร่อยกว่าใช้เตาแก๊ส ส่งผลให้ธุรกิจผลิตเตาชนิดนี้ใน จ.ตรัง ยังคงไปได้สวย จนผลิตไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า

วันนี้ (19 มิ.ย.) แม้เทคโนโลยีในปัจจุบันจะก้าวไกลไปขนาดไหน หรือยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยมเพียงใด แต่ที่ จ.ตรัง ก็ยังคงมีโรงงานผลิตเตาอั้งโล่ หรือเตาถ่าน อยู่อีกประมาณ 4-5 แห่ง พร้อมทั้งได้มีการส่งสินค้าไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วภาคใต้อยู่อย่างต่อเนื่อง และที่น่าสนใจก็คือ ความต้องการของลูกค้ายังคงมีเหนียวแน่น จนมีกำลังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะผู้คนยังคงนำเตาถ่านไปใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับการปรุงอาหาร ทั้งการหุง ต้ม ปิ้ง ย่าง กันโดยทั่วไป

น.ส.สิรินผา ล้วนดี เจ้าของโรงงานเตาอั้งโล่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ต.ควนธานี อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า ครอบครัวของตนได้เซ้งกิจการทำเตาอั้งโล่แห่งนี้มาได้กว่า 3 ปีแล้ว แรกๆ ก็คิดเหมือนกันว่าจะทำขายใคร เพราะผู้คนสมัยนี้ส่วนใหญ่จะใช้เตาแก๊สประกอบอาหารกันหมดแล้ว แต่กลับเป็นความเหลือเชื่อว่า ตลาดเตาอั้งโล่ ยังคงมีความต้องการสูง และสม่ำเสมอมาก จนผลิตแทบไม่ทันต่อออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งเข้ามา โดยกำลังช่างที่ผลิตประจำ 4-5 คน ทำได้แค่เพียงเดือนละ 2,000 ใบเท่านั้น
 

 
เตาอั้งโล่ที่ผลิตมีอยู่ 2 ชนิด คือ เตาขาว และเตาดำ พร้อมทั้งมีทุกขนาดที่เหมาะสมต่อการใช้งาน โดยเตาดำ จะมีความคงทนมากกว่าเตาขาว แต่ก็จะมีราคาสูงกว่าเล็กน้อย ส่วนสาเหตุที่เตาอั้งโล่ยังคงเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะมีราคาไม่แพง และถ่านซึ่งเป็นเชื้อเพลิงก็หาง่าย อีกทั้งการประกอบอาหารกับเตาถ่าน ทำให้ได้รสชาติที่หอมอร่อยกว่าเตาแก๊ส อย่างไรก็ตาม การผลิตเตาอั้งโล่ก็มีอุปสรรคอยู่บ้างเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนเช่นนี้ ซึ่งแดดไม่ค่อยมีทำให้เตาแห้งช้า และลูกค้าต้องรอนาน

สำหรับวัตถุดิบหลักๆ ในการทำเตาอั้งโล่ ก็มีดินเหนียวที่มีทรายป่นเล็กน้อย หรือทรายขี้เป็ด แล้วนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ จากนั้นปั้นเป็นรูปเตา และนำไปตากแดดนาน 1-3 วัน จึงนำเข้าเตาเผา ก่อนอัดใส่เปลือกสังกะสี แล้วนำมาตกแต่งจึงนำออกไปขายได้ โดยไม่ว่ายางพารา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวใต้จะมีราคาลดลงหรือเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการผลิตเตาอั้งโล่ จึงนับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากๆ ขณะที่ตน และช่างทุกคนต่างรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำอาชีพนี้ และส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์วิถีดั้งเดิมของชุมชนเอาไว้
 



กำลังโหลดความคิดเห็น