คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้
โดย...สกนธ์ รัตนโกศล
--------------------------------------------------------------------------------
ใบเป็นรูปหัวใจ ปลายเว้าเข้าหากัน ดอกบานตอนเช้า บ่ายๆ จะหุบเหี่ยว มีสีม่วงอมชมพู ม่วงอมแดง ชมพู หรือม่วง
ลักษณะของดอกเป็นรูปปากแตร ยาวประมาณ 2.5 นิ้ว ดอกจะออกเป็นช่ออยู่ตามง่ามใบ ช่อหนึ่งจะมีอยู่ประมาณ 2-6 ดอก แต่จะทยอยกันบานทีละดอกเท่านั้น
เป็นไม้ล้มลุกเถาเลื้อย ลำต้นทอดไปตามยาวบนพื้นดิน ผิวเถาเรียบสีเขียว และม่วง ตามเถาและใบมียางสีขาว ผลแห้งแตกได้ มักขึ้นใกล้ทะเล
ดอกไม้ชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า “ผักบุ้งทะเล”
ในส่วนของชื่อท้องถิ่นก็มีอย่าง ผักบุ้งต้น ผักบุ้งขน (ไทย), ผักบุ้งเล (ภาคใต้), ละบูเลาห์ (มลายู-นราธิวาส), หม่าอานเถิง (จีนกลาง) ชื่อสามัญ Goat’s foot creeper, Beach morning glory ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea pes-caprae (L.) R. Br. จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)
ผักบุ้งทะเลมีสารที่มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน หรือแอนติ-ฮีสตามีน ประโยชน์ยับยั้งพิษแมงกะพรุน และแมลงกัดต่อยได้ โดยใช้ใบ และเถาล้างให้สะอาด แล้วเอาไปโขลกให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาในบริเวณที่เกิดอาการบวมแดง
ที่สำคัญผักบุ้งทะเลมีพิษ ถ้ารับประทานจะเกิดอาการเมา คลื่นไส้ วิงเวียน และเสียชีวิตได้
ครับรู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม หากเจอเจอะแมงกะพรุนในชามเย็นตาโฟก็อิ่มท้องอิ่มใจ แต่พลาดพลั้งไปเจอแมงกะพรุนไฟในทะเล ก็เรียกหาเรียกใช้ “ผักบุ้งทะเล” สมุนไพรประจำชายหาดลดอาการเจ็บปวดได้ดีนะขอรับ
--------------------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
- https://th.wikipedia.org/wiki/ผักบุ้งทะเล
- https://medthai.com/ผักบุ้งทะเล