คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
--------------------------------------------------------------------------------
คำว่า “ปณิธาน” มีความหมายว่า ความตั้งใจอันแน่วแน่ หรือความปรารถนาที่คนเรามักจะให้สัญญากับตนเอง หรือผู้อื่นเนื่องในวาระสำคัญๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในวงอาหารว่า “ปีหน้าหนูจะลดน้ำหนัก หนูเคยลดได้แล้วเกือบ 10 กิโล”
เพื่อนในเฟซบุ๊กของผมคนหนึ่งซึ่งก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเหมือนกัน ได้ตั้งปณิธานผ่านเฟซบุ๊ก ว่า “จะกลับไปเป็น “ชาวนาอินทรีย์” อันเป็นการกลับคืนสู่สามัญ Go back to basic ด้วยวิถีพอเพียง ตามคำสอนของพ่อหลวง ความฝันที่อยากเห็น คือ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของตนและเพื่อนบ้าน ที่มีข้าวในนา มีปลาในหนอง และมีผักในแปลง” ผมขอเอาใจช่วยทั้งสองคนครับ
เมื่อ 15 ปีก่อน ผมเองเคยกล่าวในวงประชุมเชิงปฏิบัติการของภาคประชาสังคมแห่งหนึ่งว่า “จะไม่ยอมให้เอวกางเกงเกิน 34 นิ้ว” แต่ตอนนี้ 36 นิ้วแล้วยังรู้สึกคับนิดๆ ครับ (ฮา)
ก่อนผมจะเกษียณประมาณ 5 ปี ผมได้เขียนไว้ที่กระดานห้องทำงานเพื่อเตือนใจตัวเองว่าจะเขียนหนังสือ “แคลคูลัสฉบับชาวบ้าน” ซึ่งเป็นวิชาของคณิตศาสตร์ที่ว่าด้วย “การหาความแตกต่าง (Differentiation)” และ “การหาปริพันธ์ (Integration)” ซึ่งเราและเกือบทั่วทั้งโลกไปเน้น และหลงติดกับสูตรและเทคนิคการทำโจทย์ โดยขาดความเข้าใจในความหมายที่แท้จริงของวิชา ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน ชาวพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งไม่ได้เรียนหนังสือก็ยังรู้จักใช้หลักการค้นหาความแตกต่างเพื่อตามหาบูมเมอแรงที่ติดอยู่บนต้นไม้ได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่นักคณิตศาสตร์ระดับด็อกเตอร์ยังหาไม่เจอ (ชาวอะบอริจิน แนะนำว่า “อย่ามองหาบูมเมอแรง แต่ให้มองหาสิ่งที่ไม่ใช่ต้นไม้”)
แต่ผมก็ยังไม่ได้เขียนสักที ที่เป็นเช่นนี้เพราะผมมัวแต่เขียนถึงเรื่องพลังงาน เรื่องสิ่งแวดล้อม และการจับผิดนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องด่วนๆ เสียมากกว่า
อย่าหาว่าโม้เลยครับ ที่ผ่านมาผมได้ตั้งปณิธานว่าจะเขียนบทความ และค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ เผยแพร่ทุกสัปดาห์ แล้วผมก็ทำได้จริงติดต่อกันหลายปีแล้ว เพิ่งมาขาดไปเพียง 2 สัปดาห์ ตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จสู่สวรรคาลัยนี่เองครับ แต่ที่ยังไม่เขียนถึงเรื่องแคลคูลัสก็เพราะเกรงว่าจะไม่มีคนอ่าน
กลับมาที่ประวัติความเป็นมาของการตั้งปณิธานปีใหม่ครับ
จาก Wikipedia พบว่า การตั้งปณิธานปีใหม่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรบาบิลอน (ประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญาต่อพระเจ้าในช่วงเริ่มต้นของปีว่า “จะคืนสิ่งของที่ได้ยืมไปและจ่ายหนี้สินที่ได้ก่อไว้” เพิ่งทราบว่าในยุคนั้นมนุษย์เราได้ก่อหนี้ก่อสินกันแล้ว!
ข้างล่างนี้ คือคำปณิธานปีใหม่ของบาทหลวง John H. Vincent ชาวอเมริกัน ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ท่านกล่าวว่า “ทุกเช้าของวันในปีใหม่นี้ ฉันจะพยายามใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย จริงใจ และสงบ กำจัดความคิดที่ไม่พึงพอใจ ความวิตกกังวล ความท้อใจ ความไม่บริสุทธิ์ การแสวงหาเพื่อส่วนตัว จะสร้างนิสัยแห่งความเบิกบานใจ ความไม่เห็นแก่ตัว กุศลทาน การสวดมนต์ภาวนา ฝึกฝนการใช้จ่ายอย่างประหยัด ระมัดระวังในการสนทนา หมั่นเพียรในการงานที่ได้รับมอบหมาย ภักดีในทุกความเชื่อมั่น และศรัทธาเชื่อมั่นต่อพระเจ้าดุจเด็กน้อย”
Wikipedia ยังกล่าวว่า ในช่วงหลังจากการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลก (ทศวรรษ 1930) ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันประมาณ 1 ใน 4 นิยมตั้งปณิธานปีใหม่ แต่พอมาถึงศตวรรษที่ 21 พบว่า จำนวนผู้ตั้งปณิธานได้เพิ่มขึ้นเป็น 40%
ประเด็นที่คนอเมริกันนิยมตั้งปณิธานสูงสุด 3 อันดับแรกจะเกี่ยวกับ (1) การปรับปรุงตนเองและการศึกษา 47% (2) สัมพันธ์กับน้ำหนักตัว 38% และ (3) สัมพันธ์กับเรื่องการเงิน 34% มันรวมกันเกิน 100% เพราะแต่ละคนตั้งได้หลายประเด็น
จากการรวบรวมข้อมูลของ statisticbrain.com พบว่า ชาวอเมริกันที่ตั้งปณิธานปีใหม่ มีเพียง 8% เท่านั้นที่ทำได้สำเร็จตามที่ตนได้ตั้งใจไว้ ในขณะที่มีถึง 49% ที่บอกว่าไม่ค่อยจะสำเร็จ และมี 24% ที่บอกว่าไม่เคยสำเร็จ และล้มเหลวในสิ่งที่ตนได้ประกาศไว้
การตั้งปณิธานเป็นสิ่งที่ดีแน่นอนครับ เพราะเหมือนกับการกำหนดยุทธศาสตร์ชีวิตของตนเอง จากสถิติพบว่า ผู้ที่ได้ตั้งปณิธานที่ชัดเจนจะมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้สูงกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งถึง 10 เท่าตัว
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จสู่สวรรคาลัย เราได้เห็นผู้คนจำนวนมากทั้งผู้ใหญ่ และวัยเยาว์ได้ตั้งปณิธานว่า “จะทำความดีถวายพ่อ จะเดินตามรอยเท้าพ่อ ฯลฯ” ก็ต้องถือว่าเป็นบุญ และโอกาสที่ดีมากในระยะยาวของประเทศเราภายใต้ความเศร้าโศกในระยะสั้น
แต่ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรให้มันเป็นความสำเร็จจริง เป็นรูปธรรม มีความยั่งยืน และสามารถติดตามตรวจสอบได้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับปณิธานที่เป็นรายบุคคล แต่สำหรับในบางนโยบายของรัฐบาลแล้วสามารถทำได้ครับ
ในฐานะที่ผมเขียนประจำในคอลัมน์ “โลกที่ซับซ้อน” ผมสนใจเรื่องที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ และอันตรายที่สุดของโลก คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผมเห็นว่ารัฐบาลไทยควรจะเอาจริงเอาจังต่อข้อตกลงปารีส ที่ท่านประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ร่วมลงนามไว้ จึงถือว่าเป็นปณิธานของประเทศไทยที่ได้ประกาศต่อชาวโลก และเป็นปณิธานที่เป็นรูปธรรมสามารถติดตามตรวจสอบได้ว่าเราจะประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว
มันเป็นเรื่องหน้าตา และศักดิ์ศรีของประเทศที่คนไทยเราทุกคนต้องมีส่วนร่วมกันกำหนดและกำกับให้อยู่ในร่อง “รอยเท้าพ่อ” ในหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริง ไม่ใช่แค่การแอบอ้างเพื่อฉวยโอกาสของคนบางกลุ่ม
อย่าลืมนะครับว่า โลกในอนาคตเป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ผู้ที่สนใจเรื่องอนาคตบางคนถึงกับกล่าวว่า “โลกในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนไปมากกว่าเมื่อ 300 ปีที่ผ่านมา”
เมื่อชาวโลกเริ่มมีรถยนต์ใช้เป็นครั้งแรก (เมื่อ 130 กว่าปีมาแล้ว) ต้องใช้เวลานานประมาณ 30 ปีจึงจะมีรถยนต์ครบ 1 ล้านคัน แต่ในโลกยุคใหม่นี้ใช้เวลาเพียง 5 ปี นับจากเรามีรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก (ซึ่งปล่อยคาร์บอนน้อย) เราก็มีคันที่ 1.5 ล้านไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และภายในปี 2040 รถยนต์ไฟฟ้าจะมีถึงครึ่งหนึ่งของรถยนต์ทั้งโลก นี่คือความก้าวหน้า นี่คือความเร็ว และนี่คือความหวังว่าจะเป็นจริงของชาวโลก
ดังนั้น ในช่วงเวลานี้แต่ละก้าวของทุกประเทศ ไม่ว่าประเทศเล็ก หรือประเทศใหญ่ล้วนแต่มีความสำคัญมากๆ เพราะมันเกี่ยวพัน และสื่อสารถึงกันหมดทั้งโลก แต่ละก้าวย่างอาจนำไปสู่ความเจริญหรือสู่หายนะได้ทั้งนั้น และอย่างรวดเร็ว อย่างไม่เคยมีมาก่อนเสียด้วย
เฉพาะเรื่องปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่โลกร้อน หากก้าวพลาดโลกอาจจะจมดิ่งลงไปสู่สถานการณ์ที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาสู่จุดสมดุลเดิมได้ แต่หากก้าวถูกต้องคือ หันไปใช้พลังงานหมุนเวียนเราก็จะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเกิน 2 องศา หรือ 1.5 องศาเซลเซียสตามที่นักวิทยาศาสตร์เตือนได้โดยไม่ยาก
ยุคนี้จึงเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากจริงๆ ครับ ผมเองขอตั้งปณิธานปีใหม่ว่าจะทำหน้าที่สื่อสารความจริง ความก้าวหน้าของโลกทั้งด้านที่จะนำไปสู่ความเจริญ และความหายนะต่อไป ผมขอให้สัญญาครับ