สุราษฎร์ธานี - กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์จังหวัดสุราษฎร์ธานี เร่งผลักดันเพิ่มปริมาณครูชุมชน และครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้รักบ้านเกิด พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และคุณค่าศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในท้องถิ่นนั้นๆ ให้ยั่งยืนควบคู่ไปกับการเรียนในระบบ ในขณะที่เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนระบบการเรียนการสอน
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (28 พ.ย.) กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้จัดกิจกรรมเวทีการศึกษาบนฐานชุมชน (ครูชุมชน ห้องเรียนชีวิต) ขึ้น ที่ศาลาน้อย เลขที่ 57/7 หมู่ที่ 5 ต.บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีการแลกเปลี่ยนบทเรียนการศึกษาบนฐานชุมชนในพื้นที่เมืองเก่าเวียงสระ และชุมชนไทยดำ บ้านทับซัน-ไทรงาม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นแกนนำในการนำเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 7-15 ปี กว่า 70 คน ลงพื้นที่ อ.เวียงสระ และ อ.พุนพิน เพื่อศึกษาหาความรู้ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมประจำถิ่น และภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามการศึกษาทางเลือกมิติใหม่ ห้องเรียนชีวิต ที่ไม่ใช่การเรียนรู้เฉพาะอยู่ในห้องเรียน ที่มีหลากหลายรูปแบบ ในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่อยู่บนรากฐานความเป็นจริงของชุมชน เพื่อจะพัฒนาเด็ก และเยาวชนในแต่ละพื้นที่ให้รัก และหวงแหนศิลปวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของวิถีชุมชนให้ยั่งยืนตลอดไป โดยเยาวชนต่างๆ ได้สนใจในการที่จะศึกษาการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทักทอร้อยลูกปัดเครื่องแต่งกายมโนรา การรำมโนรา และการจัดร้อยลูกปัดเป็นของที่ระลึก รวมทั้งการถักทอในรูปแบบเฉพาะท้องถิ่นของชุมชนไทยดำ
น.ส.ภัสรา รู้พันธ์ แกนนำกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือหนึ่งในครูชุมชน กล่าวว่า กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ได้ก่อเกิดขึ้นในปี 2539 โดยกลุ่มนักเรียนทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากลุ่มลานสนสัมพันธ์และกลุ่มน้ำใจครู ซึ่งได้นำกระบวนการฝึกอบรมธรรมะที่สวนโมกข์เข้ามาปรับใช้ในการพัฒนาเยาวชนที่ได้รับทุนการศึกษา ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา และด้วยความร่วมมือกับกลุ่มพ่อแม่ ครู ผู้นำภูมิปัญญา ซึ่งต่อมา ได้จัดกระบวนการสืบทอดวิถีภูมิปัญญา อาชีพ สุขภาพ การดูแลรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม นำเครื่องมืองานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้ามาเสริมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนากระบวนการสืบทอดภูมิปัญญาให้มีความสอดคล้องแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ทางกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ได้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้เกิดการพัฒนาเด็ก และเยาวชนให้มีความรู้ ความเข้าใจ และความรักในท้องถิ่น รู้คุณค่ารากเหง้าของตนเอง อีกทั้งยังเท่าทันสถานการณ์สังคมที่กำลังแปรเปลี่ยนไป สามารถเลือกสรรกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้ด้วยพื้นฐานการวิเคราะห์ และทักษะการสื่อสารนำไปสู่การพัฒนาตนเองเป็นแกนนำเยาวชน พี่เลี้ยงการเรียนรู้ และครูชุมชน ตามลำดับ จนกระทั่งสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก และเยาวชนจากรุ่นสู่รุ่น
พร้อมกันนี้ จากการทำงานที่ผ่านมา บทบาทของครูชุมชนได้ผลักดันให้เกิดหน่วยจัดการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมาในพื้นที่ ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภายใน และนอกชุมชน เช่น พ่อแม่ ครูในโรงเรียน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำตามธรรมชาติ และครูภูมิปัญญา ร่วมกันผลักดัน หนุนเสริม ยกระดับขึ้นมาจากกระบวนการร่วมกันปรึกษาหารือ วางแผน ปฎิบัติการ การศึกษาดูงาน สื่อสาร รณรงค์สร้างเครือข่าย ถอดบทเรียนประเมินผลเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความรู้ และความเข้าใจด้านการศึกษาบนฐานชุมชนอย่างมีทิศทาง พร้อมด้วยการติดตามให้คำปรึกษาระบบการพัฒนา และการฝึกฝนแกนนำท่ามกลางการปฎิบัติจริงด้วย (Trainig no the job)
ในปี 2560 กลุ่มยวชนฯ และเครือข่ายการศึกษาบนฐานชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้วางจุดเน้นในด้านการพัฒนา ยกระดับ และขยายผลหน่วยการศึกษาบนฐานชุมชนจากพื้นที่ต้นแบบสู่พื้นที่ขยายผล พร้อมด้วยการพัฒนา บ่มเพาะครูชุมชนนักประสานงานการเรียนรู้ พัฒนาเด็ก และชุมชุมชน พี่เลี้ยงและเพื่อน ที่ปรึกษาของเด็กๆ เยาวชนทั้งในโรงเรียน และนอกโรงเรียนเรียนรู้ร่วมกันอย่างเรียบง่าย และก้าวเดินตามรอยพระราชปณิธานในการสร้างสรรค์และการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดไป
น.ส.ภัสรา กล่าวอีกว่า ครูชุมชน หรือครูที่มีบทบาทในด้านภูมิปัญญายังไม่ถูกยอมรับในสังคมไทย ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นมากก็คือ คนในสังคม หรือหน่วยงานต่างๆ จะต้องรับรู้มากกว่านี้ แต่ขณะที่มีความสำเร็จในด้านการเกิดของครูชุมชนรุ่นใหม่ ครูภูมิปัญญามากขึ้นกว่า 100 คน ใน 13 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเด็กๆ หรือเยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้กับครูชุมชนนั้นกลุ่มเยาวชนได้ลงมือทำในภาคปฎิบัติ ก็จะได้ความรู้ที่เยาวชนเหล่านั้นสร้างขึ้นมาเอง และสามารถต่อยอดได้
ขณะนี้กลุ่มยุวชนฯ ผู้ผลักดันให้เกิดครูชุมชนนั้นก็อยากจะเห็นการก่อตั้งกองทุนครูชุมชนขึ้น ที่สังคมควรให้ความสำคัญต่อเรื่องการศึกษาทางเลือกที่เป็นมิติใหม่ของการศึกษา ไม่ใช่มีแบบเดียวในระบบโรงเรียน ดังนั้น จะต้องเปิดใจ และเปิดโอกาสให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้จะได้เติบโต และเขาได้แสดงพลังอย่างเต็มที่ ส่วนที่ 2 อยากเห็นความร่วมมือขององค์กรเอกชน ภาคสื่อ ภาคประชาชาสังคม ที่มาร่วมกันทำเรื่องการศึกษาทางเลือกการศึกษาบนฐานชองชุมชน เพื่อการพัฒนาเยาวชนให้เข็มแข็งมีมาตรฐานที่จะยืนหยัดบนสังคมยุคใหม่
ในขณะที่ นายชัชวาล ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก ได้กล่าวว่า การศึกษาจะต้องสอดคล้องต่อความเป็นจริง เปรียบเสมือนการตัดเสื้อที่ไม่ใช่เสื้อโหล จะต้องตัดให้พอดีตัวจึงจะมีคุณภาพได้ ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องไปทางรัฐบาลให้เปลี่ยนเป้าหมายใหม่ มาเป็นเป้าหมายในการพัฒนาคน พัฒนาคุณภาพของคนให้ไปสร้างสังคมให้เข้มแข็งในอนาคต กระบวนการเรียนการสอนก็จะต้องเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนมีส่วนร่วม และได้ออกแบบการเรียนรู้ตนเองมากขึ้น ทั้งการเรียนรู้ภาคทฤษฎี และปฏิบัติทั้งในระบบ และนอกระบบ ที่มีทั้งการเรียนรู้ วิชาชีพ วิชาการ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ในอนาคตที่ไทยจะเข้าสู่อาเซียน เด็กเยาวชนไทยจะต้องเข้มแข็ง คิดเป็น ทำเป็น และมีความคิดสร้างสรรค์ และตัวอย่างที่กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ที่กำลังดำเนินการขับเคลื่อนอยู่นั้นน่าจะเป็นคำตอบโจทย์ได้ดี ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต ซึ่งเป็นการศึกษาบนฐานชุมชน ที่กลุ่มยุวชนฯ กำลังสร้างครูภูมิปัญญา และครูชุมชนเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งอดีตที่ผ่านมา เราต่างละเลยในเรื่องนี้ ดังนั้น จึงมีแต่ครูที่อยู่ในระบบ ซึ่งครูในระบบไม่สามารถสร้างให้เด็กรักชุมชน หรือรู้จักตนเอง และไม่สามารถพึ่งตนเองได้ แต่ในทางกลับกันครูชุมชน หรือครูภูมิปัญญานั้นสามารถทำให้เยาวชนรู้จักตนเอง และรู้จักรากเหง้าของตนเอง และเข้าใจตนเองและพัฒนาตนเองได้ นอกจากนั้น เยาวชนยังสามารถดูแลชุมชนของตนเอง พร้อมทั้งดูแลสังคมได้ดีอีกด้วย