นราธิวาส - ปธ.เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มสตรีในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอของ จ.นราฯ ร่วมหารือ พร้อมเผยไฟใต้รุนแรงส่งผลเด็กกำพร้าเพิ่มมากถึง 5 พันคน ระบุเป็นปัญหาที่รัฐยังไม่ให้ความสำคัญ
วันนี้ (24 พ.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม อ.เมือง จ.นราธิวาส นายซาฟีอ เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.นราธิวาส นางรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรง แสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเจ้าหน้าที่ชมรมผู้นำมุสลิมนราธิวาส พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มสตรีในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส ได้ร่วมกันประชุม และแถลงข่าวเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังผู้หญิง ในการแก้ไขเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มสตรี ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมการเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ บทบาทของสตรีในการสร้างครอบครัวให้มีความเข้มแข็งสู่สังคมสันติสุขชายแดนภาคใต้ โดยยึดหลักศาสนามาใช้ในการดำรงชีวิต
นางรอซีดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรง แสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ในวันนี้เราจะเห็นสถานการณ์บ้านเรา โดยเฉพาะในส่วนของมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ค่อนข้างจะมีปัญหาทั้งในเรื่องจากสถานการณ์ความมั่นคง และปัญหาเชิงสังคม ในฐานะเครือข่ายผู้หญิงฯ เป็นองค์กรที่ทำงานด้านพิทักษ์ปกครองให้ความช่วยเหลือผู้หญิง เราก็เห็นว่าอันหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของพี่น้องมุสลิม ก็คือ ผู้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรม มันเป็นปัญหาใต้พรมที่ไม่ได้เอามาพูดคุยกัน เรามีตัวเลขภาพรวมของทั้งประเทศที่มูลนิธิเพื่อผู้หญิงได้ทำงาน ถ้าเป็นตัวเลขโดยรวมคือ ทุกวัน ทุกชั่วโมง จะมีผู้หญิงโทรขอคำปรึกษา 60 กว่าราย ในแต่ละเดือน ประเทศไทยเองมีการทำร้ายร่างกายทุกชั่วโมง ทุกนาที อันนี้เป็นตัวเองเรื่องภายในครอบครัว และปัญหาที่เป็นเชิงสังคมในเรื่องท้อง ไม่ท้อง ท้องก่อนแต่ง อันนี้เยอะมากในปีหนึ่ง 80,000 ราย ที่เขามาขอความช่วยเหลือ
ในส่วนเหตุการณ์กรณีผู้หญิงที่สูญเสียสามีจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นางรอซีดะห์ ปูซู กล่าวว่า ผู้หญิงที่สูญเสียสามีจากเหตุการณ์ ตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าราย ในภาพรวมของเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ 6,000 กว่าราย สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กกำพร้าตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 5,000 กว่าคน ไม่มีคนดูแล เพราะแม่กลายเป็นแม่เลี้ยงคนเดียว ก็ถือว่าเป็นประเด็นใหญ่อีกประเด็นหนึ่งที่ทางภาครัฐไม่ให้ความสำคัญ แต่มุ่งไปแต่แก้ปัญหาความมั่นคง แต่ยังขาดอีกหลายปัจจัยในการแก้ผลกระทบจากไฟใต้ที่เกิดขึ้น
ในการนี้ กลุ่มตัวแทนพลังสตรีจาก 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส ได้รวมตัวกันเพื่อแสดงพลัง โดยนำร่ม และป้ายไวนิลที่มีข้อความเชิงสัญลักษณ์ต้านความรุนแรง “ขอเป็นเสียง 1 เสียง ร่วมยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทุกรูปแบบ” เพื่อให้สื่อบันทึกภาพ และนำไปสื่อสารกระจายข่าวสารสู่สาธารณชนต่อไป
สำหรับการเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังผู้หญิง ในการแก้ไขเพื่อยุติปัญหาความรุนแรง ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม จ.นราธิวาส ถือเป็นศูนย์แห่งแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ เปิดทำการตั้งแต่เวลา 10.00-15.00 น. ในวันอาทิตย์-พฤหัส หยุดวันศุกร์ และเสาร์