xs
xsm
sm
md
lg

รื้อเกาะพยาม “มัลดีฟส์เมืองไทย” บทพิสูจน์การทำงาน คสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชุมพร - ตรวจสอบ “เกาะพยาม มัลดีฟส์เมืองไทย” หลังพบสร้างที่พัก รีสอร์ตหรูในพื้นที่ป่าไม้ ส.ป.ก. เป็นอีกบทพิสูจน์ให้รู้ว่า คสช.จะเป็น “พระเอกขี่ม้าขาว” หรือ “อิเหนา” เหมือนกับที่ตราหน้าไว้แก่บรรดาเหล่านักการเมืองทั้งหลาย

จากปัญหาการร้องเรียนให้หน่วยงานที่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบการก่อสร้างอาคารที่พัก รีสอร์ต บนเกาะพยาม จ.ระนอง นับ 100 แห่ง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และคนไทย เนื่องจากมีที่พักที่สวยหรู ธรรมชาติที่งดงามจนหาที่ไหนเปรียบยาก และได้รับการขนานนามว่า “เกาะพยาม มัลดีฟส์เมืองไทย” แต่หลายคนสงสัยถึงการได้มาของสิทธิในการสร้างรีสอร์ตต่างๆ จนกระทั่ง พ.ท.ดุสิต เกษรแก้ว นายทหารยุทธโยธา หัวหน้าชุดเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ บก.ควบคุม มทบ.44 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เกาะพยาม ตำบลเกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง เพื่อตรวจสอบพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพล และกลุ่มนายทุนบุกรุกสร้างบังกะโล รีสอร์ต บ้านพักตากอากาศชายหาด ริมทะเล ในเขตที่ดิน ส.ป.ก.และป่าสงวนแห่งชาติ ช่วงระหว่างวันที่ 7-11 พ.ย.59 ที่ผ่านมา

ตำบลเกาะพยาม อยู่ในทะเลอันดามัน มีพื้นที่ทั้งหมด 34.7 ตร.กม. จำนวน 21,683.17 ไร่ แยกเป็นหมู่ที่ 1 บ้านเกาะพยาม 10,371.981 ไร่ และหมู่ที่ 2 บ้านเกาะช้าง 11,311.190 ไร่ ทั้ง 2 เกาะอยู่ไม่ไกลกันมากนัก จำนวนประชากรแยกเป็นหมู่ที่ 1 บ้านเกาะพยาม 280 ครัวเรือน ประชากร 521 คน และหมู่ที่ 2 บ้านเกาะช้าง จำนวน 145 ครัวเรือน ประชากร 313 คน บนพื้นที่เกาะพยามมีชนเผ่ามอร์แกน (ชาวเล) อาศัยอยู่บริเวณอ่าวเขาควาย จำนวน 20 ครัวเรือน มีสมาชิก 73 คน อยู่ห่างจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ตำบลปากน้ำระนอง 33 กม. เป็นเขตการปกครองของอำเภอเมืองระนอง ทิศเหนือติดกับตำบลปากน้ำระนอง ทิศใต้ติดกับตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ ทิศตะวันออกติดกับตำบลหงาว อำเภอเมืองระนอง ทิศตะวันตกติดกับประเทศพม่า

จากข้อมูลหลักฐานพบว่า บนเกาะพยามเดิมเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งถือเป็นป่าที่ยังไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยตรงว่าให้เป็นป่าประเภทใด และเป็นที่ดินที่ยังไม่มีผู้ใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน ต่อมา ได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดบนเกาะพยาม เมื่อ พ.ศ.2516 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และต่อมา กรมป่าไม้ได้ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานปฏิรูปเพื่อการเกษตร หรือ ส.ป.ก. ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2536 จำนวนกว่า 5,381.50ไร่ เพื่อนำไปปฏิรูปให้แก่เกษตรกรทำกิน

ปัจจุบัน บนเกาะพยามมีที่ดินอยู่ 3 ประเภท คือ ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ ส.ป.ก.และที่ดินป่าชายเลนโดยสภาพที่น้ำทะเลท่วมถึง โดยมีอ่าวที่สำคัญทางธุรกิจการท่องเที่ยวคือ 1.อ่าวแม่หม้าย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก มีชายหาดยาวประมาณ 400 เมตร และมีท่าเรือเกาะพยาม ที่ทำการหมู่บ้าน วัดเกาะพยาม มีชุมชนหลักอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว 2.อ่าวเขาควาย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ยาวประมาณ 3.5 กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดิน 3.อ่าวใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ชายหาดยาวประมาณ 4 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมไปอาบแดด และชมวิวพระอาทิตย์ตกดิน นอกจากนั้น ยังมีอ่าวหลายแห่ง เช่น อ่าวหินขาว อ่าวไผ่ อ่าวมุก อ่าวไข่เต่า อ่าวเล็ก อ่าวชาวเล และอ่าวค้อ

ปัจจุบัน พื้นที่หมู่ 1 บ้านเกาะพยามนั้น กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.ระนอง และภาคใต้ มีคนไทย และชาวต่างชาติไปเที่ยวพักผ่อนจำนวนมาก จนถูกขนานนามว่าเป็น “มัลดีฟเมืองไทย”

หลังจากชุดเฉพาะกิจ บก.ควบคุม มทบ.44 ลงพื้นที่ตรวจสอบเก็บข้อมูลรายชื่อเจ้าของบังกะโล รีสอร์ต บ้านพักตากอากาศทั้งหมดที่อยู่ริมทะเลรอบๆ เกาะพยาม ทั้งหมดจำนวน 61 แห่ง พบว่าสร้างอยู่ในพื้นที่เขต ส.ป.ก. เขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตป่าชายแลนตามสภาพ โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากต่างถิ่น ชาวต่างชาติที่มีภรรยาเป็นคนไทย อดีตนักการเมือง และอดีตข้าราชการระดับสูง เงินลงทุนตั้งแต่ 100 ล้านขึ้นไป ขณะที่นายทุนบางรายเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมชื่อดังในเมืองไทยมีที่ดินมากกว่า 200 ไร่ อยู่ในเขตที่ดิน ส.ป.ก.และป่าสงวนครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ชายหาดฝั่งตะวันออกไปจดชายทะเลฝั่งตะวันตก นอกจากนั้น ยังพบหลักฐานว่ามีการซื้อขายสิทธิการครอบครองที่ดินกันซ้ำซ้อนหลายทอดจนเกิดปัญหาข้อพิพาทจำนวนมาก

ดังนั้น การสร้างบังกะโล รีสอร์ต ที่พักตากอากาศบริเวณชายหาดริมทะเล ทั้ง 61 แห่ง และอยู่บนเกาะอีกจำนวนหนึ่งรวมแล้วกว่า 100 แห่ง ถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมดเพราะสร้างอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จากการตรวจสอบ 70-80% เป็นกลุ่มนายทุนใหญ่ และขนาดกลางจากนอกพื้นที่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเข้ามาซื้อสิทธิการครอบครอบในที่ดินเพื่อสร้างรีสอร์ต บังกะโล บ้านพักตากอากาศ เป็นอาคารสูงขนาดใหญ่มั่นคงถาวร ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มทุนขนาดเล็ก ขนาดย่อยของชาวบ้านในท้องถิ่น และมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งร้านเหล้า บาร์เบียร์ตามชายหาด

นอกจากนั้น ยังพบหลักฐานมีอดีตผู้นำท้องถิ่นอิทธิพลบางคนได้จัดสรรที่ดินของรัฐ และออกเป็นโฉนดชุมชนขายให้แก่กลุ่มนายทุนทั้งคนไทย และชาวต่างชาติอีกนับร้อยไร่มูลค่าหลัก 100 ล้านบาท โดยโฉนดชุมชนดังกล่าวทำกันเอง ออกแบบคล้ายหลักฐานทางราชการมีตราครุฑประดับอยู่ด้านบน พร้อมลายเซ็นผู้ปกครองในท้องถิ่น ซึ่งไม่มีอยู่ในสารบบที่ดินของทางราชการแต่อย่างใด

ข้อมูลทั้งหมดที่ถูกซุกมานานจนชุดเฉพาะกิจ บก.ควบคุม มทบ.44 ลงไปขุดคุ้ยสะสางนำขึ้นมาเปิดเผยให้หน่วยงานที่เกี่ยวในจังหวัดระนองได้รับรู้ กระทั่งเมื่อวันที่ 17 พ.ย.59 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกันที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระนอง โดยมี พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผบ.มทบ.44/ผอ.รมน.ภาค 4 สย.1 นายสมศักดิ์ เวชพานิชย์ รอง ผวจ.ระนอง ร่วมเป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาบนเกาะพยาม และผู้เกี่ยวข้อง เช่น นายจงรัก ทรงรัตนพันธ์ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) นายลักษณ์ แก้วมณี ปฏิรูปที่ดินจังหวัดระนอง พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และอกชนกว่า 50 คน เข้าร่วมประชุม

โดย พ.ท.ดุสิต เกสรแก้ว หน.ฉก.บก.ควบคุม มทบ.44 ได้นำข้อมูลหลักฐานจากการลงพื้นที่เกาะพยาม มาบรรยายสรุปในที่ประชุม โดยเฉพาะปัญหารีสอร์ต บังกะโล บ้านพักตากอาการหรูทั้งหมดสร้างอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. กับเขตป่าสงวนแห่งชาติ และป่าชายเลน โดยเฉพาะรีสอร์ตขนาดใหญ่ และบ้านพักตากอากาศหรูส่วนใหญ่เป็นของนายทุนนอกพื้นที่ และชาวต่างชาติ กลุ่มผู้มีอิทธิพลจัดสรรที่ดินของรัฐออกโฉนดชุมชนขาย การซื้อขายสิทธิทำกินในที่ดินซ้ำซ้อนหลายทอด การใช้อิทธิพลข่มขู่ไล่ที่ชาวบ้าน รวมถึงปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยเฉพาะกัญชา และน้ำต้มพืชกระท่อมสี่คูณร้อย และสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ อีกจำนวนมาก

ขณะที่สำนักงาน อบต.เกาะพยาม ใช้งบประมาณสร้างกว่า 4 ล้านบาท ถูกปล่อยทิ้งร้าง เนื่องจากผู้บริหารไปเช่าที่ทำการอยู่ในเขตตัวอำเภอเมืองระนอง โดยให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่ อบต. และสมาชิกชิก อบต.ส่วนใหญ่มีบ้านอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ไม่สะดวกในการเดินทางไปกลับ และช่วงลมมรสุมไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้ อีกทั้งบนเกาะพยาม ทั้งเกาะมีเพียงตำรวจชั้นประทวน 4 นายเท่านั้นที่อยู่ประจำป้อมยาม ไม่มีหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ อยู่ประจำการบนเลยแม้แต่คนเดียว ทำให้อำนาจรัฐ และการบริการเข้าไม่ถึงประชาชน จนกลุ่มผู้มีอิทธิพลครอบงำพื้นที่ได้ง่าย จึงเป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวงบนเกาะแห่งนี้

ด้าน นายลักษณ์ แก้วมณี ปฏิรูปที่ดินจังหวัดระนอง กล่าวว่า บนเกาะพยามมีพื้นที่ ส.ป.ก.อยู่ทั้งหมดกว่า 5 พันไร่ สำรวจรังวัดออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ไปแล้วจำนวน 150 ราย 189 แปลง รวมพื้นที่ 3,268 ไร่ ยังเหลือตกค้างอีกกว่า 2 พันไร่ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการเนื่องจากมีข้อพิพาทและการครอบครองทำกินผิดเงื่อนไขมีการก่อสร้างรีสอร์ต บังกะโล บ้านพักตากอากาศ ซึ่งมีอยู่มาก่อนแล้ว อีกทั้งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอความชัดเจนนโยบายจาก ส.ป.ก. ที่กำลังดำเนินการในเรื่องของวังน้ำเขียวโมเดล ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีลักษณะเดียวกันเพื่อนำมาใช้เป็นตัวอย่างและแม่แบบในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ที่เกิดปัญหาเหมือนๆ กัน

ส่วน นายจงรักษ์ ทรงรัตนพันธ์ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) กล่าวว่าเกาะพยามนั้นกรมป่าไม้ได้ประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติครอบคลุมทั้งเกาะเมื่อปี พ.ศ.2516 ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2536 กรมป่าไม้ ได้ส่งมอบพื้นที่ให้แก่ ส.ป.ก. เพื่อนำไปปฏิรูปที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร จำนวน 5,381.50 ไร่ ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยมีเงื่อนไขระหว่างกันว่า เมื่อกรมป่าไม้ยกพื้นที่ให้ ส.ป.ก.แล้ว จะต้องไปสำรวจหากพบว่าจุดใดยังเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และเป็นป่าชายเลนตามสภาพอยู่หรือพื้นที่ไม่สมารถใช้ประโยชน์ในทางการเกษตรกรรมได้ ทาง ส.ป.ก.จะต้องส่งมอบคืนพื้นที่ดังกล่าวกลับมาให้แก่กรมป่าไม้เพื่อดูแลต่อไป ที่ผ่านมา ส.ป.ก.ไม่มีการส่งมอบคืนพื้นที่กลับมาให้แก่กรมป่าไม้เลยแต่อย่างใด อีกทั้งยังพบว่าการระวางแนวเขตที่ดิน ส.ป.ก.บนเกาะพยาม บางจุดได้ครอบลงไปในทะเลอีกด้วยซึ่งอยู่นอกเหนือจากพื้นที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้ นอกจากนั้น ยังตรวจสอบมีการออกเอกสารสิทธิ น.ส.2 ก.จำนวน 3 แปลงอยู่เกาะพยาม ซึ่งไม่ทราบว่าออกมาได้อย่างไร นายจงรักษ์ กล่าว

สำหรับการก่อสร้างรีสอร์ตนับ 100 แห่งบนเกาะพยามนั้น นางอำภา แก้วยาว นายก อบต.เกาะพยาม กล่าวว่า นับตั้งแต่ตนได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบต.มานานหลายสมัยแล้วนั้น ช่วงแรกๆ ยังไม่ค่อยรู้เข้าใจเรื่องระเบียบกฎเกณฑ์มากนัก จึงได้อนุญาตให้มีการก่อสร้างไปบ้างเพียง 2- 3 รายเท่านั้น นอกจากนั้น ไม่เคยอนุญาตให้ก่อสร้างอีกเลย ส่วนการออกโฉนดชุมชนบนเกาะพยามพอจะทราบว่ามีนายทุนเข้ามาชักชวนอดีตผู้นำท้องถิ่นคนหนึ่งให้ทำ และมีแบบฟอร์มชื่อตนเองเข้าไปพัวพันด้วย เมื่อตนรู้จึงได้สั่งให้เอาออก หลังจากนั้น ตนก็โดนการเมืองเล่นงานอย่างหนักมาตลอดเพราะตนไม่ตามใจกลุ่มคนเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาบนเกาะพยาม ที่กำลังกลายเป็นปมร้อนแรง และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นบททดสอบการทำงานของทหารที่ลงไปในพื้นที่ครั้งนี้ ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด จากทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัด และมีการออกคำสั่ง คสช.ครอบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยคณะกรรมจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบเอกสารสิทธิเพื่อยืนยันการครอบครองทำกินของเจ้าของตัวจริงในที่ดินเดิมทั้งหมด พร้อมกับสอบสวนเอาผิดผู้มีอิทธิพลที่นำที่ดินของรัฐไปจัดสรรออกโฉนดชุมชนขายเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ตรวจสอบการขายสิทธิครอบครองทำกินซ้ำซ้อน พร้อมกับให้ผู้บริหาร อบต.เกาะพยาม ย้ายที่ทำการกลับไปอยู่ที่เดิมบนเกาะเพื่อบริการประชาชนในพื้นที่

“เกาะพยาม มัลดีฟส์เมืองไทย” กำลังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอยู่ในขณะนี้ จึงต้องจับตามองกันต่อไปว่า รีสอร์ต บังกะโล บ้านพักตากอากาศ สร้างในที่ดิน ส.ป.ก. ป่าสงวน และป่าชายเลย การก่อสร้างที่ไม่ได้ขออนุญาต ทั้งหมดส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือนายทุน กลุ่มผู้มีอิทธิพลจัดสรรที่ดินรัฐออกโฉนดชุมชนขาย ปัญหาที่ถูกหมักหมมความไม่ชอบมาพากลด้วยผลประโยชน์มหาศาลที่เอื้อกันระหว่างนายทุนกับเจ้าหน้าที่รัฐ กับอำนาจรัฐที่ยังเข้าไม่ถึงบนเกาะพยาม จนทำให้อำนาจเถื่อนครอบงำอยู่บนเกาะแห่งนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ในยุค คสช.ภายใต้บังเหียนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ จะทำให้จบ หรือจะลากยาวปล่อยให้ยืดเยื้อคาราคาซังไปจนถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเลือกตั้งที่มีนักการเมืองบริหารประเทศ

ดังนั้น “เกาะพยาม มัลดีฟส์เมืองไทย” จึงเป็นอีกบทพิสูจน์ให้รู้ว่า คสช.จะเป็น“พระเอกขี่ม้าขาว” หรือ “อิเหนา” เหมือนกับที่ตราหน้าไว้แก่บรรดาเหล่านักการเมืองทั้งหลาย


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น