xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.หาดใหญ่จัดเวทีเสวนาท้องถิ่นในหัวข้อ “จิตสาธารณะ” ต้นกล้า พัฒนาชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.อ.หาดใหญ่ คณะศิลปศาสตร์ เอกชุมชนศึกษา จัดเวทีเสวนาท้องถิ่นในหัวข้อ “จิตสาธารณะ” ต้นกล้า พัฒนาชุมชน ณ โรงเรียนวัดท่านางหอม ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามหลักสูตรสาขาชุมชนศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วันนี้ (6 พ.ย.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะศิลปศาสตร์ เอกชุมชนศึกษา ได้มีการจัดเวทีเสวนาท้องถิ่นในหัวข้อ “จิตสาธารณะ” ต้นกล้า พัฒนาชุมชน ณ โรงเรียนวัดท่านางหอม ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยเป็นการจัดขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องจิตสาธารณะ เพื่อเป็นแนวทางในการนำความรู้ไปพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคตตามหลักสูตรชุมชนศึกษา

ในเวทีการเสวนาในครั้งนี้ มีผู้ร่วมเสวนาทั้งหมด 6 คน ได้แก่ ผศ.อภิชาติ จันทร์แดง อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าวผู้จัดการภาคใต้ นายครุศักดิ์ สุขช่วย นักวิชาการอิสระ อ.พัชรีย์ คีรีโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่านางหอม นางวีณา จันทะกาโม กลุ่มเย็บปักสตรีอยู่ดีมีสุข และ น.ส.ฉัตรชนก แก้วพิบูลย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สาขาชุมชนศึกษา และผู้ดำเนินรายการ นายครุศักดิ์ สุขช่วย นักวิชาการอิสระ พร้อมกับนักศึกษาที่มาเข้าร่วมฟังเสวนา จำนวน 50 คน

อ.พัชรีย์ คีรีโชติ ผอ.รร.วัดท่านางหอม กล่าวว่า จิตอาสา คือ การทำโดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งครอบครัว สภาพแวดล้อม และตัวเของเราเองก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดจิตสาธารณะ โดยทางโรงเรียนวัดท่านางหอม ก็มีการดำเนินการโดยจัดแผนพัฒนาคุณภาพขึ้น ตลอดจนแยกมาเป็นแผนปฏิบัติการประจำปี ได้แก่ โครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม โครงการวิถีพุทธ และในวันสำคัญต่างๆ ทางโรงเรียนก็จะพานักเรียนไปพัฒนาช่วยเหลือชุมชน

น.ส.ฉัตรชนก แก้วพิบูลย์ นศ.ปีที่ 3 ม.อ.หาดใหญ่ สาขาชุมชนศึกษา กล่าวว่า เด็กในปัจจุบันมีความดื้อรั้น เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นแรงดึงดูดมากกว่าจะมาทำจิตสาธารณะ สถาบันการศึกษาจึงส่งเสริมให้นักศึกษารุ่นใหม่มีจิตสาธารณะมากขึ้น โดยได้มีการจัดกิจกรรมดำนาขึ้น เพราะเป็นโครงการที่มองในระยะยาว เนื่องจากต้นกล้าจะเติบโต และให้ผลผลิตแก่ชาวบ้านในชุมชนให้ใช้ประโยชน์ต่อไป

นางวีณา จันทะกาโม กลุ่มเย็บปักสตรีอยู่ดีมีสุข กล่าวว่า เมื่อก่อนชาวบ้านในชุมชนอยู่กันแบบคนชนบท มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ในปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป เนื่องจากมีเทคโนโลยีเข้ามา ทำให้อาชีพภายในชุมชนเปลี่ยนไป ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพชาวนาบางส่วนก็ได้เปลี่ยนอาชีพและปล่อยให้ที่นาร้าง ตนจึงได้เขียนหนังสือโครงการฟื้นฟูนาร้างให้เป็นนาข้าว ทำให้ชาวนาในชุมชนสนใจที่จะกลับมาฟื้นฟูที่นาให้เกิดประโยชน์ต่อไป

นายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าวผู้จัดการภาคใต้ กล่าวว่า ในฐานะสื่อมวลชนจะถูกสอนให้มองในหลายมิติ ในเรื่องของจิตสาธารณะในการพัฒนาชุมชนเราจะต้องเข้าใจโลกก่อน คือ การมองให้เห็นตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต การที่เรารู้เท่าทันโลก รู้ทันการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นให้ปัจจุบันทำให้เป็นการเปิดโอกาส และเกิดสิ่งใหม่ขึ้นอยู่ตลอด

ผศ.อภิชาติ จันทร์แดง กล่าวว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงมีทั้งด้าน ดีและด้านไม่ดี ของบางอย่างก็ไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามโลกที่เปลี่ยนไป ฉะนั้นเราก็ควรมองปรากฏการณ์ต่างๆ ให้ลึกขึ้น มากกว่าสิ่งที่มันจะเป็น เพราะบางกิจกรรมก็จัดขึ้นเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนบุคคล แต่จิตสาธารณะที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ทำเพื่อส่วนร่วม และไม่หวังผลตอบแทน

นายครุศักดิ์ สุขช่วย ผู้ดำเนินรายการ กล่าวปิดท้ายการเสวนาในครั้งนี้ว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้ ตนเชื่อว่าจะทำให้นักศึกษาที่เข้าร่วมฟังได้ทราบถึงความคิดเห็นต่างๆ ของคำว่า จิตสาธารณะ และการพัฒนา นักศึกษาก็เปรียบเสมือนต้นกล้า ถ้าได้รับการดูแลที่ดีก็จะให้ผลผลิตที่เจริญเติบโตงอกงามเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป ฉะนั้นแล้ว จิตสาธารณะเป็นการช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ด้วยความเต็มใจ ดั่งคำปณิธานของพระบิดาที่ดำรัสไว้ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น