xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานพม่าในสงขลา ร่วมกันสร้างเจดีย์ชเวดากองไทย-พม่า สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แรงงานพม่า และชาวคลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ร่วมกันสร้างเจดีย์ชเวดากองไทย-พม่า เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และทำมาหากินอยู่ในประเทศไทย

วันนี้ (21 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวพม่าที่เข้ามาทำงานอยู่ในพื้นที่ จ.สงขลา และชาวบ้านในพื้นที่ ม.4 ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้ร่วมกันสร้างเจดีย์ชเวดากองไทย-พม่า เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยใช้พื้นที่ของวัดคลองแห จำนวน 5 ไร่ ใน ม.4 ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นพื้นที่ก่อสร้าง และมีการจำลองแบบให้มีความคล้ายคลึงกับพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ที่ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยใช้ศิลปะผสมทั้งไทย และพม่า โดยฐานเจดีย์มีขนาดกว้าง 19 เมตร ยาว 19 เมตร และความสูงจากยอดเจดีย์ถึงฐานล่าง 19 เมตร ซึ่งขณะนี้โครงสร้างโดยรวมทั้งหมด และการลงสีเสร็จสมบูรณ์ไปเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ หลังก่อสร้างมานานกว่า 2 ปี
 

 
ส.ท.อุดม เพ็ชรหนู อดีตทหาร และเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ม.4 ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง บอกว่า เจดีย์ชเวดากองไทย-พม่า เป็นเจดีย์องค์แรกที่ชาวพม่าสร้างขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์รวมใจของชาวพม่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ชาวพม่าได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทำมาหากินอยู่ในประเทศไทย และซึ้งในความมีน้ำใจของคนไทยที่ชาวพม่าเข้ามาอยู่ และทำงานอย่างมีความสุข แต่สุดท้ายวันหนึ่งชาวพม่าเหล่านี้ก็ต้องกลับสู่มาตุภูมิบ้านเกิดของตนเอง จึงอยากจะทำอะไรสักอย่างไว้เป็นที่ระลึก และแสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

ขณะที่หลังการทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็นำความโศกเศร้าอาลัยมาสู่แรงงานชาวพม่าที่เข้ามาทำงานใน จ.สงขลา และอีกหลายจังหวัดของภาคใต้ ไม่น้อยไปกว่าคนไทยเช่นเดียวกัน
 

 
สำหรับเจดีย์ชเวดากองไทย-พม่า ได้วางศิลาฤกษ์ และเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2557 โดยใช้เงินบริจาคทั้งจากแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานงานในประเทศไทยเกือบทั่วทุกภาคของประเทศ และจากผู้ใจบุญต่างๆ เป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท โดยใช้ศิลปะผสมผสานทั้งของไทย และพม่า ทั้งตัวเจดีย์สีทองที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเจดีย์ชเวดากองในพม่า ส่วนซุ้มประตู ซุ้มพระ ยักษ์ นาค สิงห์ และรูปปั้นนูนต่ำ นูนสูงต่างๆ ก็จะใช้แบบผสมผสานกันไปตามความเหมาะสม โดยขั้นตอนสุดท้ายเหลือเพียงส่วนยอดของเจดีย์ ความสูง 3 เมตร และพระใหญ่ที่ทำมาจากหินขาวอีก 16 องค์ ที่ต้องรอรับมาจากพม่า โดยคาดว่าทุกอย่างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ และทำพิธียกยอดเจดีย์ได้ในช่วงต้นปีหน้า
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น