สตูล - คณะทำงานแก้ไข และป้องกันอุบัติเหตุทางถนน อ.ควนกาหลง จ.สตูล ลงพื้นที่ตรวจสภาพถนน เพื่อเร่งหาทางออกตรงโค้งจุดเสี่ยง บนถนนสาย 406 สตูล หลังพบเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
วันนี้ (12 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ในช่วง 1 สัปดาห์ มีรถหลุดโค้ง 7-8 คัน โดยเฉพาะในช่วงฝนตก” เป็นใจความบางช่วงบางตอนจากการบอกเล่าของ นายปิยะ สุขเนียม อายุ 53 ปี เจ้าของร้านจำหน่ายของฝาก ซึ่งตั้งอยู่ก่อนถึงโค้งอีซูซุ และโค้งท่าสาย ซึ่งเป็นโค้งจุดเสี่ยง 1 ใน 5 จุดเสี่ยงของเส้นทางหมายเลข 406 จ.สตูล บนพื้นที่หมู่ 8 บ้านค่ายรวมมิตร ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล
นายปิยะ สุขเนียม ซึ่งเป็นเสมือนกล้องวงจรปิดของพื้นที่จุดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนเส้นนี้ เดินพาไปดูจุดเสี่ยงตรงโค้งอีซูซุ ฝั่งขาออกจาก จ.สตูล ซึ่งถูกปูพื้นทาเป็นสีแดงยาวประมาณ 100 เมตร ตลอดเส้นทางมีป้ายเตือนระวังอุบัติเหตุมากกว่า 10 ป้าย ตลอด 2 ข้างทาง พบร่องรอยรถยนต์หลุดโค้งชนราวกันอันตราย (Guard Rail) ตกลงไปในคูน้ำ มีร่องรอยล้อรถสดใหม่ ในบริเวณใกล้เคียงมีซากรถ เช่น บังโคลนรถ ไฟหน้ารถ อีกทั้งยังมีชิ้นส่วนประกอบของเสาไฟฟ้าในบริเวณเดียวกัน สร้างความสะเทือนใจยิ่งนัก นายปิยะ บอกว่า ช่วงฝนตกมักเกิดเหตุทุกครั้ง ใน 1 สัปดาห์หากมีฝนตกลงมา จะเกิดเหตุ 7-8 ครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นรถทรงสูง รถยนต์กระบะ และรถเก๋ง
นายปิยะ มองว่า สาเหตุเกิดจากโค้ง และพฤติกรรมการขับรถเร็วเกิดกำหนด รถวิ่งมา 10 คัน จะวิ่งเร็วอยู่ประมาณ 7 คัน ทั้งที่มีการติดป้ายเตือนไว้แล้ว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า พื้นสีแดงเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุหรือไม่ เพราะเหตุส่วนใหญ่จะเกิดตรงจุดนี้ พร้อมแนะแนวทางในการแก้ปัญหาคือ ให้มีการเปิดเส้นทางใหม่ อาจจะมีการเวนคืนที่ดินชาวบ้านฝั่งขาออกจาก จ.สตูล เพื่อการแก้ปัญหา ลดความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน ซึ่งไม่ใช่แค่ทรัพย์สินของผู้ประสบเหตุเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงทรัพย์สินของรัฐ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เกิดขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน
จากปัญหาอุบัติเหตุซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะจุดเสี่ยง มีหลายฝ่ายในพื้นที่ร่วมกันหาทางออก ล่าสุด คณะทำงานการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน อ.ควนกาหลง โดย นายบุญช่วย หอมยามเย็น นายอำเภอควนกาหลง เป็นประธานในการประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน ณ ห้องประชุมอำเภอควนกาหลง ชั้น 2 อ.ควนกาหลง จ.สตูล โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแขวงทางหลวงสตูล แขวงทางหลวงชนบทสตูล ขนส่งจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ตำรวจภูธรควนกาหลง ท้องถิ่นในพื้นที่ ร่วมประชุมหารือ ก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่จุดเสี่ยงในการหาทางออกเพื่อแก้ปัญหา ลดความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนน
น.ส.ปริศนา โชติ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม แขวงทางหลวงสตูล กล่าวว่า จากการได้รับแจ้งชาวบ้านมองว่า อุบัติเหตุเกิดจากวัสดุเคลือบผิวจราจรเพื่อลดการลื่นไถลสีแดงที่มีการติดตั้ง แต่จากข้อมูลที่ได้รับรับเกิดจากการขับรถเร็วเกิดอัตรากำหนด ซึ่งทางกายภาพนั้นได้มีการตักเตือนให้มีการขับขี่ไม่เกิน 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในโค้งนี้ จากสังเกตการณ์พบว่า ขับเกินกันมาก็ขอให้ผู้ขับขี่เคารพกฎจราจรกันด้วย
ส่วนวัสดุเคลือบผิวจราจรเพื่อลดการลื่นไถลสีแดงนี้ ได้มาตรฐาน มอก. ซึ่งสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุลงได้ แต่ในพื้นที่ จ.สตูล นี้ไม่ลด ช่วงเกิดฝนตกใหม่ๆ พื้นถนนจะสกปรก มีฝุ่น ดิน ก็เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่ถ้าฝนตกเยอะทำให้ถนนสะอาดเหตุตรงนี้ก็จะไม่เกิด ในส่วนป้ายเตือนนี้มองว่าอยู่ในระดับสายตาผู้ขับขี่แล้ว และมีเพียงพอ แต่ก็จะมีการเพิ่มอีกในส่วนฉาบผิวทางเพิ่ม เพิ่มลูกระนาด และอื่นๆ
สำหรับพื้นที่จุดเสี่ยงในพื้นที่ จ.สตูล นี้ บนเส้นทางสาย 406 มีจำนวน 5 จุด เช่น โค้งอีซูซุ โค้งท่าสาย โค้งวายุภักตร์ โดยภารกิจเร่งด่วนต้องแก้ปัญหาที่โค้งท่าสาย และโค้งอีซูซุ ก่อนจะมีการติดตั้งดับเบิลทิป และติดตั้งคอนกรีตแบริเออร์ด้วย เพื่อลดอุบัติเหตุ แต่ไม่สามารถเวนคืนที่ดินเพื่อให้เป็นเส้นตรงได้เพราะติดเขตป่าไม้ ส่วนนี้ก็จะมีการหาแนวทางแก้ในพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้เลย หากแก้ไม่ได้ในอนาคตอาจจะต้องดำเนินการในทางอื่นต่อไป
ด้าน นางเยาวนารถ ประสพสุขโชค ขนส่งจังหวัดสตูล กล่าวว่า จริงๆ แล้วอุบัติเหตุเกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถเป็นปัจจัยสำคัญ หากมองจากสภาพรถนั้นสภาพไม่ดี แต่ผู้ขับขี่ขับด้วยความระมัดระวัง จำกัดความเร็วตามที่ป้ายกำหนดไว้ หากปฏิบัติตามกฎกติกา ป้ายสัญญาณเตือน ผู้ขับขี่ไม่สามารถเกิดอุบัติเหตุได้เลย จากการตั้งข้อสังเกตว่า โค้งนี้ไม่สอดรับต่อถนน มองว่าไม่น่าจะเป็นในส่วนนั้น ส่วนหนึ่งคือ ตัวที่แขวงทำ วัสดุเคลือบผิวจราจรเพื่อลดการลื่นไถลสีแดงขึ้นมา เมื่อมีฝนตกน้ำก็จะขังในส่วนนั้น ก็จะให้เพิ่มตัวนี้ขึ้นมา เพื่อชะลอความเร็วได้ด้วย ช่วยลดอุบัติเหตุได้อีกทางหนึ่ง
หากถามว่า วัสดุเคลือบผิวจราจรเพื่อลดการลื่นไถลสีแดงลื่นไหม หากว่าติดตั้งใหม่ๆ อาจจะไม่ลื่น แต่ ณ จุดเสี่ยงนี้มีการติดตั้งมาเป็นเวลาพอสมควร แต่ยังอยู่ในประกันก็สามารถจะขออุปกรณ์เพิ่มได้ ส่วนการปรับถนนก็จะติดเขตของป่าไม้ซึ่งทำได้ยาก จึงเน้นการปรับพื้นผิวถนนมากกว่า เพิ่มสัญญาณตั้งกรวยบนพื้นถนนเตือนให้ระวังก่อนเข้าโค้ง คิดว่าน่าจะดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้
ปัจจัยหลักๆ ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเกิดจากผู้ขับรถ ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง และเป็นคนนอกพื้นที่ไม่ทราบว่าพื้นที่ตรงนี้ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเดือนกันยายน-ตุลาคม เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เกิดขึ้นประมาณ 6 ราย ส่งผลให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายด้วย ตรงนี้อยากเตือนผู้ขับขี่ทุกท่านให้ลดความเร็วลงตามที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่เกิน 80 ส่วนนี้ก็สามารถช่วยชีวิต และทรัพย์สินด้วย ทรัพย์สินราชการก็ไม่เสียหายด้วย จากการร่วมกันแก้ปัญหาคาดว่าน่าจะ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ในการช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุส่วนนี้ได้
สำหรับผลการประชุมแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน อ.ควนกาหลง นั้น แขวงทางหลวงสตูล ได้รับไปดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก การแก้ไขปัญหามาตรการเร่งด่วน โดย 1.ฉาบผิวทางเพิ่ม 2.เพิ่มลูกระนาดเพื่อชะลอความเร็ว 3.เพิ่มแท่งปูนเพื่อเป็นการป้องปรามผู้ขับขี่ เมื่อเห็นแท่งปูนจะชะลอความเร็ว 4.เจาะทางระบายน้ำ เพื่อไม่ให้มีน้ำขังบริเวณโค้งที่มี Red antiskid และ 5.วางกรวยยางก่อนเข้าโค้งเพื่อลดความเร็วรถ ซึ่งทางแขวงสตูล ได้แจ้งที่ประชุมจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนระยะที่สอง การแก้ปัญหาระยะยาว โดย 1.ติดตั้งกล้องควบคุมความเร็ว 2.แก้ระดับถนนใหม่ในแนวเขตทางเดิม และ 3.ปรับแนวโค้งเป็นโค้งเดียวรวมกับโค้งท่าสาย