xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสตูลร่วมอนุรักษ์ปลาปักเป้ากล่องที่หายากใกล้สูญพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสตูล แหล่งเรียนรู้สัตว์น้ำใต้ท้องทะเล ร่วมอนุรักษ์เพาะพันธุ์เลี้ยงปลาปักเป้ากล่องที่หาดูได้ยาก และใกล้สูญพันธุ์

วันนี้ (5 ต.ค.) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสตูล ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล ได้ทำการเพาะพันธุ์และอนุรักษ์ปลาปักเป้ากล่องที่หายาก โดยปลาเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ทะเลลึกที่กำลังจะสูญพันธุ์ โดยทางศูนย์วิจัยแห่งนี้จึงได้ทำการอนุรักษ์เพาะพันธุ์เลี้ยงไว้เป็นจำนวนมาก หากใครสนใจสามารถมาดู และศึกษาได้ที่นี่
 

 
สำหรับปลาปักเป้ากล่องมีหลากหลายชนิด และหลากหลายสีสันดูแปลกตา โดยลักษณะของปลาในวงศ์นี้จะมีรูปทรงป้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยม รูปทรง และการเคลื่อนไหวจะมีความคล่องแคล่วกว่าปลาปักเป้าในวงศ์อื่น และมักจะมีขนาดเล็ก มีสีสันลวดลายสวยงาม เช่น สีเหลือง สีขาว สีส้ม สีลายจุด และเป็นเกล็ดเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมเรียงตัวต่อกัน ที่สำคัญบางชนิดมีเขางอก หรือที่เรียกตามวิชาการ คือ ระยางค์แหลมที่ยื่นออกมา

อีกทั้งปลาในวงศ์นี้มีพิษที่ต่างออกไปจากปลาปักเป้าในวงศ์อื่น กล่าวคือ มีสารพิษชนิดออสทราซิท็อกซิน ที่ผลิตขึ้นมาจากต่อมที่ผิวหนัง และสามารถขับออกมาพร้อมกับเมือกที่หุ้มตัวอยู่ ซึ่งสามารถละลายในน้ำได้ ซึ่งพิษชนิดนี้จะเป็นพิษต่อปลาด้วยกัน ทำให้ปลาอื่นที่อยู่บริเวณเดียวกันเมื่อได้รับสารพิษจะตายได้ ซึ่งจะขับออกมาเมื่อได้รับความเครียด หรือตื่นตกใจ อันเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันตัว
 
นายดีนัน  พัทลุง
 
ปลาปักเป้ากล่องมีการกระจายพันธุ์เฉพาะในทะเลเท่านั้น ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติก, อินเดีย และแปซิฟิก พบทั้งหมด 33 ชนิด ใน 9 สกุล บางชนิดอาจมีระยางค์แหลมยื่นออกมาเหนือบริเวณส่วนหัวแลดูคล้ายเขาด้วย ในน่านน้ำไทยพบด้วยกัน 3 ชนิด อาทิ ปลาปักเป้ากล่องเหลืองลายจุดดำ

ด้านนายดีนัน พัทลุง นายกสมาคมรีฟการ์เดียน สตูล กล่าวว่า ปลาปักเป้ากล่องนี้นักดำน้ำจะรู้ว่าหาดูได้ยากและใกล้สูญพันธุ์ โดยเกิดจากน้ำมือมนุษย์เพราะปัจจุบันพบว่า มีคนเริ่มจับและตามล่าเอาเจ้าตัวปลาปักเป้ากล่องที่มีเขาหลากหลายสีสันเหล่านี้ไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามในตู้กระจกใส ซึ่งทางเราเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกันอนุรักษ์ที่ช่วยกันสอดส่องดูแลในพื้นที่สตูล แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่ลักลอบดำน้ำใต้ทะเลลึกและลงไปจับปลาปักเป้ากล่องไปเลี้ยง แต่ถ้าต้องการจะดูและศึกษาควรมาดูได้ที่นี่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสตูล อย่าลงไปดำน้ำและจับเพราะเป็นปลาที่ควรอนุรักษ์ไว้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น