ฝรั่งเศส ผลักดันมาตรการลดโลกร้อน เตรียมห้ามใช้ภาชนะทำจากพลาสติกสำหรับใส่อาหารทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นถ้วยชาม จาน และแก้วน้ำ ภายในปี ค.ศ.2020
มาตรการนี้จะทำให้ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่ห้ามการใช้ภาชนะพลาสติกใส่อาหารทุกชนิด ซึ่งเป็นอีกความพยายามของฝรั่งเศสที่จะลดการปล่อยคาร์บอนและต่อสู้กับภาวะโลกร้อน หลังมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมานี้
ภายใต้มาตรการใหม่ที่บังคับใช้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว ภายหลังจากที่ฝรั่งเศส เห็นชอบในร่างข้อตกลงว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกฉบับสมบูรณ์ จากที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ ซีโอพี 21 (COP21) ปลายปีที่ผ่านมา จึงให้เวลาผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหลายจนถึงปี ค.ศ. 2020 ในการเปลี่ยนแปลงวัสดุในการผลิตภาชนะพลาสติกสำหรับใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว โดยผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่ายในฝรั่งเศสนั้นต้องทำจากวัสดุชีวภาพ
ทั้งนี้ บรรดาองค์กรสิ่งแวดล้อม ต่างออกมาสนับสนุนมาตรการล่าสุดของฝรั่งเศส และหวังว่าจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นๆ ทำตาม แต่กลุ่มผู้คัดค้านอ้างว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันว่า พลาสติกที่ทำจากวัสดุชีวภาพจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
ขยะพลาสติก อันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และห่วงโซ่อาหารมนุษย์
ผลการศึกษาของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย “กาดิซ” ประเทศสเปน ได้มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2010 นำโดยอันเดรส โกซาร์ นักวิจัยชื่อดัง ระบุว่า ในเวลานี้ ขยะพลาสติกในทะเลเปิดได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนก่อให้เกิดการปนเปื้อนในมหาสมุทรในสัดส่วนที่สูงถึง “ร้อยละ 88 “ ของตัวอย่างน้ำทะเลจำนวน 3,070 ตัวอย่าง ที่ทีมวิจัยเก็บจากมหาสมุทรต่างๆ ทั่วโลก
อันตรายของพลาสติกต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล พบว่า น่านน้ำบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก มีการปนเปื้อนโดยขยะพลาสติกในสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลกถึงราว 12.4 ตัน และมีจำนวนขยะพลาสติกสูงกว่ามหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือที่พบขยะพลาสติกราว 6.7 ตันถึงเท่าตัว ขณะที่มหาสมุทรอินเดียกลายเป็นน่านน้ำที่มีปริมาณขยะพลาสติกน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับน่านน้ำแห่งอื่นๆของโลก โดยมีปริมาณขยะพลาสติกราว 5.1 ตัน
อันเดรส โกซาร์ ผู้นำทีมวิจัยเตือนว่า ขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล กลายเป็นสิ่งปนเปื้อนต่อมหาสมุทรต่างๆทั่วโลกถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งยวดต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ รวมถึงนกทะเลสายพันธุ์ต่างๆ หลังพบการล้มตายของสัตว์เหล่านี้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี เพราะการที่พวกมันกินชิ้นส่วนขยะพลาสติกเข้าไป พร้อมเตือนว่า การล้มหายตายจากของสัตว์น้ำที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อ “ห่วงโซ่อาหาร” ของมนุษย์ในระยะยาวอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ผลการศึกษายังบ่งชี้ว่า การเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คือ ปัจจัยหลักที่ทำให้มีการปล่อยขยะพลาสติกออกสู่ทะเลเปิดและมหาสมุทรมากขึ้น และส่งผลให้น่านน้ำบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก กลายเป็นน่านน้ำที่มีการปนเปื้อนโดยขยะพลาสติกในสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก