ตรัง - อาจารย์พระจอมเกล้าลาดกระบัง นำคณะนักศึกษา จับมือกับชาวบ้าน และทุกภาคส่วนใน อ.กันตัง ช่วยกันพลิกฟื้นเมืองท่าชื่อดังระดับโลก ด้วยการสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ผ่านงานศิลปะ
วันนี้ (21 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.กิตติ แสงมณี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า เนื่องจากตนเองเป็นผู้ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มายาวนาน ประกอบกับได้มีโอกาสเดินทางกลับมาเยือนบ้านเกิด พร้อมกับคณะนักศึกษาจำนวนหนึ่ง แต่เห็นว่า เมืองกันตัง ที่เคยเป็นเมืองท่าชื่อดังระดับโลกนั้น กลับมีความเงียบเหงาลงไปอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากสภาพเศรษฐกิจของภาคใต้ที่ตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมัน และประมง ซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของจังหวัดตรัง
ดังนั้น ตนจึงได้หารือร่วมกับชาวบ้าน และทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมหวังจุดประกายเมืองกันตังให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง จนมาสรุปที่โครงการรักกันตัง ด้วยการสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองกันตัง โดยผ่านงานศิลปะ และจากการสำรวจสถานที่เห็นว่า บริเวณตรอกเล็กๆ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ตรอกศรีเวียง” ซึ่งเชื่อมถนนหลักหน้าท่าน้ำ กับซอยข้างโรงพักกันตัง ที่มีความยาวประมาณ 40 เมตร มีทั้งความเป็นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมที่ผูกพันกับผู้คนที่นี่มาอย่างยาวนานนับ 100 ปีแล้ว
ด้าน นายรามริน เกื้อกูล ครูวิชาศิลปะ โรงเรียนกันตังรัษฎาศึกษา หนึ่งในพลังคนรุ่นใหม่ที่นำนักเรียนมาช่วยสรรค์สร้างโครงการรักกันตัง กล่าวว่า ต้นทุนของการทำกิจกรรมในช่วงระยะเวลาไม่กี่วันประมาณ 3-4 หมื่นบาทนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการขายเสื้อสกรีนของกลุ่มนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมกับแรงสนับสนุนจากชาวบ้านเอง ทั้งในรูปแบบเงิน อาหาร หรือสิ่งของ เพื่อนำไปจัดซื้อสี อุปกรณ์ และเสบียงมาสร้างสรรค์งานศิลปะจนประสบผลสำเร็จ กลายเป็นจุดถ่ายรูป หรือจุดเซลฟี่แห่งใหม่ของเมืองกันตัง
สำหรับสีสันใหม่ของเมืองกันตังในครั้งนี้เกิดจากฝีมือของคนรุ่นใหม่ที่อุทิศแรงกายแรงใจ เช่น นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ครู นักเรียน จากโรงเรียนกันตังรัษฎาศึกษา และโรงเรียนกันตังพิทยากร โดยมีคนในชุมชนเป็นแรงเสริมเพื่อร่วมกันสร้างเมืองที่มีคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมอันดับ 3 ของภาคใต้ ให้มีคุณค่า และน่าอยู่ยิ่งขึ้น ซึ่งหวังว่าหลังจากนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เมืองกันตัง กลับมาคึกคักอีกครั้ง และนำไปสู่การทำกิจกรรมอื่นๆ โดยที่ชาวบ้านเองมีส่วนร่วมต่อไป