ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มรส.นำนักศึกษาการท่องเที่ยว 50 ชีวิต เก็บขยะบนหาดอ่าวคา หมู่เกาะอ่างทอง หวังสร้างจิตอาสา และจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นใหม่ ขณะที่รองคณบดีชี้ยิ่งทำธุรกิจท่องเที่ยว ยิ่งต้องมีหัวใจสีเขียว
วันนี้ (15 ก.ย.) นายธนาวิทย์ บัวฝ้าย รองคณบดีฝ่ายวางแผนและกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้นำนักศึกษาในสังกัดวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว จำนวน 50 คน ลงพื้นที่บริเวณหาดอ่าวคา เกาะวัวตาหลับ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อช่วยกันเก็บขยะ และทำความสะอาดบริเวณหาด
นายธนาวิทย์ กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมดังกล่าวหวังผลใน 3 ประการ คือ 1.ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม และสถานที่ท่องเที่ยวให้สะอาดสวยงาม 2.ต้องการสร้างจิตอาสา และจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมให้เกิดในหัวใจของคนรุ่นใหม่ และ 3.ต้องการให้นักศึกษาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งจบไปแล้วจะประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว ตระหนักถึงความสำคัญของการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“เราต้องการให้นักศึกษาตระหนักว่า คนที่ทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวต้องมีหัวใจสีเขียว ยิ่งเราสร้างรายได้จากสิ่งแวดล้อม เรายิ่งต้องดูแลมันให้มากกว่าที่คนอื่นทำเป็นร้อยเท่าพันเท่า การสอนเรื่องการท่องเที่ยวไม่ได้สอนแค่เทคนิค หรือกลยุทธ์ แต่เราต้องสอนให้เขามีจิตสำนึก ทำให้เขาตระหนัก และรับรู้ถึงผลกระทบ ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาด้วย” รองคณบดี กล่าว
น.ส.ปาณิสรา วิสูตรเดชบดี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กล่าวว่า เรามาเก็บขยะที่เราไม่ได้เป็นคนทิ้ง มันเป็นจุดเริ่มต้นของการมีจิตสาธารณะ ไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าเราเป็นผู้ก่อหรือไม่ หากเราสามารถเป็นผู้แก้ และผู้รักษาได้เราก็ยินดีที่จะทำ
“ระหว่างที่เราเก็บขยะอยู่ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติหลายคนมองดูพวกเราอยู่พักหนึ่ง แล้วก็เริ่มลงมือช่วยเราเก็บขยะด้วย มันทำให้เห็นว่าเราเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เราโน้มน้าวใจคนอื่นให้หันมาทำสิ่งดีๆ ได้ โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเอง” น.ส.ปาณิสรา กล่าว
อนึ่ง สำหรับเกาะวัวตาหลับ เป็น 1 ใน 42 เกาะในท้องที่ ต.อ่างทอง เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง บนเกาะมีจุดชมวิวบนยอดเขาที่สามารถชมทิวทัศน์ได้รอบทิศถึง 360 องศา มองเห็นหมู่เกาะอ่างทองทั้งหมด มีหาดทรายขาวสะอาด นักท่องเที่ยวนิยมมาทำกิจกรรมชายหาด แคมปิ้ง และการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา