xs
xsm
sm
md
lg

โต้ รมว.พลังงาน! นักวิชาการ สวล.แจงเหตุลาออก กก.ไตรภาคี รฟฟ.ถ่านหินกระบี่ ยันไม่ควรสร้างเพราะกระทบระบบนิเวศสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รศ. ดร. เรณู เวชรัชต์พิมล  (ภาพ ppvoice.thainhf.org)
 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม แจงเหตุลาออกจากกรรมการไตรภาคีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ไม่กระทบทำให้โครงการล่าช้าตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอ้าง เผยการดำเนินการของ กฟผ.ไม่แคร์ใคร เปิดประมูลการก่อสร้างทั้งที่รายงานอีไอเอยังไม่ผ่านการพิจารณา ยืนยันพื้นที่ตั้งโครงการไม่เหมาะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของประเทศ

วันนี้ (11 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยผ่าน http://energynewscenter.com/index.php/news/detail/339 ถึงกรณี รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล กรรมการไตรภาคีสัดส่วนภาคประชาชน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ลาออกจากกรรมการไตรภาคี

โดยระบุว่า การลาออกของไตรภาคีอาจทำให้การพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ล่าช้าออกไปอีก แทนที่ประเทศจะได้พัฒนาไฟฟ้าโดยเร็ว ทั้งนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งไตรภาคีขึ้น ดังนั้น เมื่อมีการลาออกก็อาจแต่ตั้งคนใหม่ขึ้นมาเพื่อให้คณะกรรมการครบองค์ประชุม

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Renu Vejaratpimol ระบุว่า “ดิฉัน รองศาสตราจารย์ เรณู เวชรัชต์พิมล พร้อมเข้าพบเรียนข้อเท็จจริงต่อท่าน รมต.”

“สำหรับเรื่องการลาออกของอนุฯ อีไอเอไม่ได้กระทบต่อความล่าช้าของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพราะโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ไม่ได้รอคณะอนุฯ อีไอเอเลย.....

เพราะถ้ารอจริง....กฟผ.คงต้องรอผลการพิจารณารายงาน อีไอเอ/อีเอชไอเอ ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ก่อนเปิดประมูลหาผู้รับเหมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

ที่ทำสำคัญ การที่รายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอจะผ่านการเห็นชอบหรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ที่อนุกรรมการฯ แต่อยู่ที่ คชก.

ทางภาคประชาชนได้ชี้ข้อบกพร่องของรายงานทั้ง 2 ฉบับ มามากพอแล้ว แต่ข้อบกพร่องบางกรณีไม่อาจไปศึกษาเพิ่มเติมได้เพราะต้องไปเริ่มต้นใหม่

เนื่องจากเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิในการไม่จัดการรับฟังประชาชนกลุ่มผู้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ได้รับเชิญ และรับทราบโครงการ

ที่สำคัญมาก คือ พื้นที่สร้างโครงการ...ไม่เหมาะสมต้องเดินเรือขนถ่านหินเข้ามาในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

จากการสำรวจวัดความขุ่นของน้ำทะเลหลังจากมีการเดินเรือขนน้ำมันเตาซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเรือขนถ่านหินกว่า 3.3 เท่า ....

โดยการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน กฟผ. และทีมงานวิชาการจาก มน. (มหาวิทยาลัยนเรศวร) นำโดย ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ พบว่า จุดตรงร่องน้ำตื้นซึ่งมีผืนหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พบว่า...ความขุ่นของน้ำจากการเดินเรือช้าๆ...จะสร้างผลกระทบต่อ...หญ้าทะเลทำให้มีอัตราการเจริญเติบโตลดลง 36%

ข้อค้นพบนี้...บ่งชี้ว่า การสร้างท่าเทียบเรือขนถ่านหินที่บ้านคลองรั้ว...ไม่เหมาะสม และไม่สามารถป้องกันลดผลกระทบได้ถ้าใช้วิธีอื่น...ก็จะกระทบสร้างปัญหาใหม่โดยเฉพาะชุมชนชาวประมง และการท่องเที่ยว

และพื้นที่นี้เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จึงไม่เหมาะสมต่อการสร้างท่าเทียบเรือขนถ่านหินที่จะมีการเดินเรือกระทบต่อระบบนิเวศที่มีความสำคัญของประเทศ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น