xs
xsm
sm
md
lg

มน.โชว์ผลวิจัยพยากรณ์คนเหนือ 17 จว.ตื่นตัวลงประชามติเกิน 80%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ม.นเรศวร วิจัย-พยากรณ์ความตื่นตัวของคนเหนือ 122 อำเภอ 17 จังหวัด 20,000 กว่าตัวอย่าง พบส่วนใหญ่กว่า 80% มีความตื่นตัวในการออกไปใช้สิทธิลงประชามติ แต่แผนกิจกรรม 7 สิงหาฯ กว่า 52% อยู่บ้าน ที่เหลือทำงาน-ทำธุระ-ท่องเที่ยว

วันนี้ (28 ก.ค.) รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ สิรสุนทร คณบดีคณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะนักวิจัย ได้นำเสนอผลการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม ภายใต้ชื่อโครงการ NU Forecast พร้อมแถลงผลการทดลองใช้นวัตกรรม “การพยากรณ์ความตื่นตัวของคนไทยในภาคเหนือต่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559” ที่ห้องเสลา 1 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างระบบและกลไกการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสะท้อนความคิดเห็น และความตื่นตัวในการออกเสียงประชามติของคนในพื้นที่ภาคเหนือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ สร้างความรู้ความเข้าใจที่มีต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯ ในห้วงเวลาสุดท้ายตามกรอบเวลาของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559

โดยได้สำรวจข้อมูลประชาชนใน 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 26,057 คน ระยะ 5 วัน ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2559 นี้ ครอบคลุม 122 อำเภอ พบว่าประชาชนมีความตื่นตัวในการไปออกเสียงลงประชามติแน่นอน ร้อยละ 82.18 ไม่ไปออกเสียงประชามติร้อยละ 4.35 และยังไม่ตัดสินใจว่าจะไปออกเสียงประชามติหรือไม่ ร้อยละ 13.25

โดยจังหวัดที่มีความตื่นตัวมากที่สุด คือ พิจิตร 89.45 เปอร์เซ็นต์, พิษณุโลก 89.25 เปอร์เซ็นต์, สุโขทัย 87.44 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่มีความตื่นตัวน้อยสุด คือ น่าน 64.33 เปอร์เซ็นต์, พะเยา 72.15 เปอร์เซ็นต์, ลำพูน 77.22 เปอร์เซ็นต์, เชียงราย 74.23 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ผลสำรวจแผนกิจกรรมผู้ให้ข้อมูล ในวันอาทิตย์ 7 สิงหาคม พบว่า คนใน 17 จังหวัดภาคเหนือ พบว่า อยู่บ้าน 52.28 เปอร์เซ็นต์, ทำงาน ทำธุระ 25.43เปอร์เซ็นต์, ท่องเที่ยว 8.74 เปอร์เซ็นต์ อื่นๆ (พบแพทย์ รอฟังผลประชามติ ฯลฯ) 14.54 เปอร์เซ็นต์

ด้านความคิดเห็นต่ออนาคตประเทศไทย พบว่า มีความหวัง และออกไปเสียงประชามติแน่นอน 38.1 เปอร์เซ็นต์ พอมีความหวังบ้างเล็กน้อยและไปออกเสียงประชามติแน่นอน 27.1 เปอร์เซ็นต์ หมดหวังและไปออกเสียงประชามติแน่นอน 3.3 เปอร์เซ็นต์ ไม่ทราบและไปออกเสียงประชามติแน่นอน 13.3 เปอร์เซ็นต์ ไม่ระบุและไปออกเสียงประชามติแน่นอน 0.4 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งสิ้น 82.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 4.3 ไม่ออกเสียงประชามติ และที่เหลือยังไม่ตัดสินใจ 13.2 เปอร์เซ็นต์

แหล่งข้อมูลที่รับรู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 พบว่า รับรู้จากสื่อมวลชน 25.94 เปอร์เซ็นต์ ผู้นำท้องถิ่น 14.66 เปอร์เซ็นต์ สื่อสิ่งพิมพ์ 12.9 เปอร์เซ็นต์ สื่อสังคมออนไลน์ 12.64 เปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่รัฐ 12.6 เปอร์เซ็นต์ เสียงตามสายในชุมชน 12.41 เปอร์เซ็นต์ ครอบครัวและเพื่อนสนิท 8.85 เปอร์เซ็นต์

ส่วนประเด็นความเข้าใจเนื้อหาที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ พบว่า ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 24.64 มีความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดเป็นอย่างดี ร้อยละ 29.54 มีความเข้าใจในเนื้อหาเพียงครึ่งเดียว ร้อยละ 27.8 เข้าใจเนื้อหาน้อยกว่าครึ่ง และร้อยละ 18.51 ไม่เข้าใจเนื้อหาเลย

รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ เปิดเผยว่า ไม่ใช่ทำโพล แต่เป็นการทำพยากรณ์ที่บ่งชี้ถึงอนาคต แนวโน้ม และเลือกใช้เวลาใกล้ที่สุดก่อนกิจกรรมที่เกิดขึ้น (7 ส.ค.) แต่อาจไม่เป็นไปตามนั้นก็ได้ อาจมีปัจจัยอื่นๆแทรก แต่เชื่อว่าข้อมูล 2.6 หมื่นตัวอย่าง 122 อำเภอ ถือว่ามากที่สุด และใหม่ที่สุดในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ทั้งนี้ เพราะเพิ่งทำเมื่อ 5 วันก่อน และเพิ่งเสร็จเมื่อคืนที่ผ่านมานี้เอง โดยเน้นการทำกลุ่มที่ตื่นตัวมากสุด น้อยสุดหรือไม่ตัดสินใจ และมีความรู้ระดับไหนที่จะไป ภาพที่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้บอกให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยใช้เทคนิคและความรู้ เครื่องมือที่มีอยู่ และงบประมาณทั้งหมดจากคณะสังคมฯและมหาวิทยาลัยนเรศวรในการจัดทำพยากรณ์

คณะนักวิจัยฯ ได้สรุปว่า “ผลการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม NU Forecast” ในระยะแรกเป็นที่น่าพอใจ สำหรับการเข้ามามีส่วนร่วมของท้องถิ่นจำนวนมากในช่วงเวลาสั้นๆ รวมถึงการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ร่วมกับสถาบันการศึกษา

ทั้งนี้ คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวรจะเดินหน้าในการพัฒนา NU Forecast อย่างต่อเนื่องให้มีความถูกต้องแม่นยำ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสะท้อนความต้องการ และความคิดเห็นที่มีต่อนโยบายสาธารณะต่างๆ ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น