xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “พิชาวีร์ อมาตยวิศว์” ผู้นำ นศ.ม.อ. ทำไมหนุ่ม-สาวต้องข้ามรั้วมหา’ลัยไปแอ็กชันกับสังคมมากกว่าโพสต์โซเซียลมีเดียที่วูบไหวชั่วข้ามคืน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.พิชาวีร์ อมาตยวิศว์ นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
 
ท่ามกลางคำถาม หรืออาจจะว่าเป็นกระแสเสียงเรียกร้อง ซึ่งผู้คนจำนวนมากมายในสังคมมีต่อ “คนหนุ่ม-คนสาว” ที่เดินขวักไขว่อยู่ใน “รั้วมหาวิทยาลัย” ณ ห้วงเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในช่วง “พิเศษ” หรือถ้าจะบอกว่า “ไม่ปกติ” ก็ไม่น่าจะผิดข้อเท็จจริงอะไรนัก พวกคนหนุ่ม-สาวเหล่านั้นรับรู้ และเข้าใจหรือไม่ว่า เวลานี้กำลังเกิดอะไรขึ้นกับประเทศชาติ และประชาชน
 
ประเด็นหนึ่ง - กว่าสิบปีมาแล้วที่ภาคประชาชนเกิดความเคลื่อนไหวอันนำไปสู่การตื่นตัวทางการเมืองอย่างขนานใหญ่ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งภาคประชาชนเหล่านี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเขตเมือง หรือชนบทเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่กระจายไปอย่างถ้วนทั่ว แทบจะทุกซอกหลืบของเมือง รวมถึงตามท้องไร่ ท้องนา แม้กระทั่งป่าเขาลำเนาไพร 
 
ประเด็นหนึ่ง - สิ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้ได้ดีคือ ฟากหนึ่งจาก “ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล” ตามติดด้วย “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” แล้วในที่สุดก็สานต่อเนื่องมาถึง “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)” แล้วอีกฟากหนึ่งก็เกิด “ปรากฏการณ์คนเสื้อแดง” ที่ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)” หรือ “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)” และที่มีกลุ่มหรือเครือข่ายอื่นๆ อีกมากมายที่แตกตัวตามมา เป็นต้น
 
ประเด็นหนึ่ง - ในท่ามกลางความเคลื่อนไหวที่ตื่นตัวขนานใหญ่ของภาคประชาชนนั้น ปรากฏว่าผู้ที่เข้าร่วมเกือบทั้งหมดล้วนจัดว่าสูงวัย หรือตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป จนถึงเลยวัยเกษียณ ขณะที่คนหนุ่ม-สาว โดยเฉพาะบรรดานิสิตนักศึกษาที่ย่างเท้าเดินออกจากรั้วมหาวิทยาลัยมาเข้าร่วมด้วยนั้นกลับมีน้อยมาก จนมีเสียงสะท้อนหลายครั้งคราว่า น้อยเสียจนน่าใจหาย
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ MGR Online ภาคใต้” จึงถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษเพื่อเปิดใจ “น้องสอง” หรือ “น.ส.พิชาวีร์ อมาตยวิศว์” นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อสื่อสะท้อนแนวความคิดในตัวแทนนิสิตนักศึกษา หรือตัวแทนของคนหนุ่ม-สาว ผู้ที่จัดว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวต่อไปเป็นผู้กุมชะตากรรมชาติบ้านเมืองในเวลาอันใกล้นี้
 
   


 
MGR Online ภาคใต้” : เคยทำงานอะไรมาบ้าง


“สอง-พิชาวีร์ อมาตยวิศว์” : เคยเป็นกรรมการชมรมวิเทศสัมพันธ์ ปีที่แล้วเป็นประธานชมรมวิเทศสัมพันธ์ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ค่ะ ก่อนจะมาเป็นนายกองค์การบริหารฯ

: ในฐานะที่มาเป็นนายกองค์การบริหารฯ  ในมุมมองของนักศึกษาอย่างเรา มองการเมืองในปัจจุบันอย่างไรบ้าง


ตอนนี้หลังจากที่ได้มีการปฏิรูปเนื้อหารัฐธรรมนูญไปแล้ว จากหลังการลงประชามติไปแล้ว ส่วนตัวได้ศึกษาเนื้อหาในนั้นบ้างพอสมควร มีโอกาสไปเข้าร่วมอบรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อประมาณปลาย ก.ค.ที่แล้ว ได้ฟังหลายๆ อย่าง ก็ได้เห็นว่าเนื้อหาในนั้นมีการปรับเปลี่ยน โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองมากขึ้น เน้นเรื่องความโปร่งใสเป็นหลัก ความสุจริต
 
ในนั้นก็จะมีการเปลี่ยนรูปแบบด้านการศึกษา คือ จะให้มีด้านสายอาชีพเข้ามามากขึ้น คือ จะส่งเสริมเรื่องการประกอบอาชีพมากกว่าเดิม เรื่องของท้องถิ่นจะส่งเสริมให้มีการทำผลิตภัณฑ์ทางท้องถิ่น
 
ที่ได้อ่านมาก็คิดว่า เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเดิมพอสมควรเลยทีเดียว เพราะว่าได้มีการปฏิรูป และลงประชามติครั้งใหญ่ไป
 
: สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันที่เรารับรู้จากข่าวสารในทุกช่องทาง ในฐานะนักศึกษาคนหนึ่งมีความคิดเห็น และมุมมองยังไงต่อสถานการณ์บ้านเมืองหลังประชามติบ้าง
 
ตอนนี้คิดว่ายังเห็นอะไรได้ไม่ชัดพอที่จะตอบได้เท่าไหร่ เพราะเพิ่งจะลงไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ตอนนี้เท่าที่อ่านข่าวอยู่ทุกวันๆ ยังคงเดิม แต่คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะประชาชนก็รับรู้แล้วแหละว่า ตอนนี้กฎหมาย แล้วก็รัฐธรรมนูญเราเปลี่ยนไปเยอะ
 
จากที่ปิดเทอมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปร่วมแถลงการณ์ขององค์การนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เห็นแล้วว่าจากครั้งนั้นพอเราได้แถลงข่าวไป ก็กระตุ้นให้ประชาชนศึกษามากขึ้น ก่อนที่จะไปลงประชามติ คิดว่าอันนี้มีส่วนด้วยที่ทำให้ประชาชนได้มาสนใจ
 
เพราะว่าส่วนมากที่ไปลง คือ พูดตรงๆ บางคนเค้ายังไม่รู้ ไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อะไรเปลี่ยนไปบ้าง คิดว่าคนเค้าก็จะรู้มากขึ้นค่ะ
 
: ในมุมมองของสื่อ และประชาชนทั่วไปกลับมองว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีส่วนร่วมกับสังคม และมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนยังน้อยไป อย่างเช่น ไปช่วยต่อสู้ หรือต่อต้านในประเด็นปัญหา หรือความขัดแย้งในชุมชน ตรงนี้เรามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง
 
อยากจะบอกเลยว่า เด็กยุคสมัยนี้ค่ะ เค้าจะไม่มองเรื่องที่คิดว่าไกลสำหรับเค้า ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วการเมืองมันใกล้ตัวมากสำหรับเรา มันมีผลกับเราทุกอย่างเลย แต่ว่าเด็กสมัยนี้จะโฟกัสสิ่งที่ใกล้ตัวเค้า แล้วเค้ารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เค้าสนใจมากกว่า 
 
แล้วอีกอย่างสื่อโซเชียล อย่างที่บอกว่าสมัยนี้สำคัญมาก คือเร็วมาก คือเด็กสมัยนี้ถ้าให้ออกมาเดินชุมนุม เค้าจะไม่สนใจตรงนั้น เท่าที่เค้าจะอยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) เท่าไหร่ เพราะว่าเค้าถือว่าการที่อยู่ในนั้น คือการแสดงตัวตนของเค้า ถือว่าเค้าได้แสดงออกความคิดเห็นของเค้าแล้ว ผ่านการโพสต์ ผ่านการแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก ในเพจ หรือในเว็บบล็อกต่างๆ สำหรับเขามันเร็วกว่า
 
และเด็กสมัยนี้ความคิดจะเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเป็นในสมัยก่อนก็จะมีการออกมาชุมนุม ออกมามีปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งเด็กสมัยนี้นั้นเปลี่ยนไปมากจริงๆ ก็คือ อยู่ในยุคดิจิตอล การโพสต์ การแสดงความคิดเห็นก็ถือว่าเป็นการได้พูดไปแล้ว
 

 
: แล้วในมุมมองของเราเอง เราคิดว่าการโพสต์ หรือการแสดงความคิดเห็นบนสื่อโซเชียลมันส่งผลอะไรได้บ้าง มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ยังไงบ้าง
 
สมัยนี้ สองคิดว่า มันได้เยอะ แต่มันจะอยู่ไม่นาน มันจะพุ่งมาแค่คืน สองคืน ก็คืออาจจะมียอดไลก์ ยอดแชร์ที่ถล่มทลาย แต่มันจะไม่อยู่เป็นเดือนๆ หรือระยะยาว เพราะโซเซียลเน็ตเวิร์กถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้เกิดกระแสให้คนสนใจในระยะสั้น
 
แต่สอง คิดว่าถ้าการที่เราออกมา มีแอ็กชัน (Action) และแอ็กทีฟ (Active) มันจะทำให้สื่อ และคนทั่วไปภายนอกเห็น มากกว่าการที่เราโพสต์คืนเดียวจบ ถึงการโพสต์มันจะง่าย แต่การที่เราออกมามีปฏิสัมพันธ์ หรือว่ามีการแสดงออกที่มีตัวตนของเราอยู่ตรงนั้นจริงๆ มันจะดีกว่า
 
เด็กสมัยนี้ยากมากที่จะให้ออกมา ต้องให้เป็นเรื่องที่รู้สึกว่าใหญ่มาก จึงจะออกมา ซึ่งเด็กสมัยนี้ยังไม่ได้ตระหนักถึงตรงนั้น 
 
: หากลองเปรียบเทียบกับในอดีต เราจะเห็นว่ามีนักศึกษาที่ต้องออกไปเดินขบวนประท้วง แต่กลับกันในปัจจุบัน เราเห็นแค่คนในวัย 40 หรือ 50 ปีขึ้นออกไปเดิน แต่นักศึกษาแทบไม่มี หรือมีน้อยมาก เราจะช่วยกระตุ้นให้นักศึกษาได้รับรู้ในเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง
 
ในนามขององค์กรนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ในส่วนที่ผู้นำนักศึกษาสามารถทำได้ นั่นก็คือ การประชาสัมพันธ์ให้เขาได้รับทราบถึงปัญหาของบ้านเมือง ไม่ว่าจะรณรงค์ หรือเสวนา ต้องเชิญชวนให้มาเข้าร่วม เพื่อที่จะให้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
 
เพราะคิดว่าการที่เราไม่รู้ว่ามีอะไร เกิดอะไรขึ้น มันก็จะไม่มีแรงกระตุ้นที่จะทำให้เขาออกมา คือ บางคนอาจจะสนใจ แต่ไม่รู้ หรือสิ่งที่ได้ยินมา มันไม่มากพอที่จะทำให้เขาออกมา เพราะอย่างที่บอกว่า การที่นักศึกษา หรือเยาวชนรุ่นใหม่จะออกไปเดินขบวน หรืออกมาทำอะไรที่มีแอ็กชันแรงๆ เรื่องนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ใหญ่
 
: สุดท้ายนี้อยากฝากอะไรถึงนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับเรื่องการเมือง การปกครอง ที่เค้ายังคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันใกล้ตัว และสำคัญกับเราทุกคน
 
ก็อยากจะฝากถึงเยาวชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา หรือน้องๆ มัธยมต้น มัธยมปลาย อยากให้น้องๆ หันมามองประเทศชาติมากกว่านี้ ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการติดตามข่าวสารผ่านในทีวี ทางสื่อ ทางอะไรต่างๆ เพราะในสมัยนี้สื่อต่างๆ ก็เข้าถึงมากแล้ว การติดตามข่าวสารก็จะเป็นไปได้ง่าย
 
ก็อยากให้หันกลับมาสนใจตรงนี้ เพราะต่อไปเราก็จะเป็นอนาคตของชาติ และก็อยากให้เราใช้เพาเวอร์ (Power หรือพลัง) ที่เรามีในการขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคต เราอยากให้อนาคตของประเทศชาติเราเป็นยังไง ก็คืออยู่ที่น้องๆ ไม่ได้อยู่ที่ผู้ใหญ่อายุ 40 หรือ 50 ปีขึ้นไป แต่จริงๆ คือ พวกเราทุกคน
 
 
------------------------------------------------------------------------------------------
 
เรื่อง/ภาพ  :  สุธาทิพย์ โหดสุบ,  นงลักษณ์ อินทรโท  และ  ปุณญาณัช แก้วพิลา
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น