ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “เครือข่ายภาคประชาชน 58 องค์กรภาคใต้” ร่อนแถลงการณ์ร่วมอย่างเป็นทางการเรื่อง “ขอตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของ นายวิส ติงสมิตร และให้ปลดจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” เผยจะมีการจี้ติดตามในเรื่องนี้ใกล้ชิดต่อเนื่อง
วันนี้ (26 ส.ค.) “เครือข่ายภาคประชาชน 58 องค์กรภาคใต้” ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเรื่อง “ขอตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของ นายวิส ติงสมิตร และให้ปลดจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดเวที กสม.พบประชาชนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม พ.ศ.2559 ณ โรงแรมบุรีศรีภู อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีประชาชนจากเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ รวมถึงข้าราชการ นักวิชาการ และตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้เข้าร่วมกว่า 300 คน
การประชุมดังกล่าวมีการวิเคราะห์สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ และการระดมข้อเสนอเพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ ได้นำไปปฏิบัติเพื่อปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต
โอกาสนี้ ทางเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ ได้จัดทำข้อเสนอเตรียมออกเป็นแถลงการณ์ เพื่อนำผ่านสื่อมวลชนไปยังรัฐบาลให้หยุดการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
และด้วยหวังจะให้คณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับทราบเนื้อหาสาระของข้อเสนอในแถลงการณ์ดังกล่าวด้วย โดยได้ประสานงานกับคณะกรรมการสิทธิฯ บางท่านไว้ล่วงหน้า เพื่อขอช่วงเวลาก่อนการปิดเวทีการประชุมในการจัดแถลงข่าวนี้
แต่กลับได้รับการปฏิเสธจาก นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยท่าทีที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ ทั้งๆ ที่เนื้อหาสาระในคำแถลงการณ์ดังกล่าวนั้นมิได้กระทบต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้แต่อย่างใด หากเป็นการสื่อสารไปยังรัฐบาลเท่านั้น
เป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดรู้สึกไม่พอใจต่อท่าทีดังกล่าว จึงได้ประท้วง นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ด้วยการเดินออกจากห้องประชุมก่อนที่จะกล่าวปิดการประชุมแล้วเสร็จ จากนั้นเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ทั้งหมด ได้ใช้พื้นที่หน้าห้องประชุมอ่านแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวต่อหน้าสื่อมวลชน
พร้อมกันนี้ ได้มีการกล่าวตำหนิท่าทีที่ไม่เหมาะสมของประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งทราบมาว่า ในเวที กสม.พบประชาชนที่ได้จัดไปก่อนหน้านี้ในภาคอื่นๆ ก็เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดกั้นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อันเป็นการกระทำที่ขัดแย้งอย่างยิ่งต่อคุณสมบัติที่เหมาะสมของผู้ที่จะทำหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ จึงมีฉันทมติร่วมกันว่า ไม่สามารถยอมรับการปฏิบัติหน้าที่ของ นายวัส ติงสมิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้อีกต่อไป ด้วยว่าการรับรู้ การได้ยินเสียง คือต้นทางของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หากไม่รับฟังก็ไม่อาจรู้ข้อเท็จจริง หากไม่รับรู้ข้อเท็จจริงก็ไม่อาจวินิจฉัยคุ้มครองใครได้ การรับฟัง จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญยิ่งของผู้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทุกคน แต่พฤติกรรมของ นายวิส ติงสมิตร หาได้เป็นเช่นนั้นไม่
เราจึงขอตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งหมด แสดงความรับผิดชอบด้วยการเปลี่ยนตัวบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ต่อไป เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ และเรียกความศรัทธา ความเชื่อมั่นขององค์กรดังกล่าวนี้กลับคืนมาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เครือข่ายภาคประชาชน 58 องค์กรภาคใต้ ตามที่มีรายชื่อแนบกับแถลงการณ์ฉบับนี้ตกลงร่วมกันไว้ว่า หลังจากนี้ จะมีการส่งตัวแทนติดตามเรื่องที่ร่วมกันเรียกร้องอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยจะให้เวลาคณะกรรมการ กสม.ได้ตัดสินใจดำเนินการเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้เพียงระยะเลาหนึ่ง แต่ไม่น่าจะนานนัก
ทั้งนี้ ในตอนท้ายของแถลงการณ์นี้ยังได้ให้รายละเอียดองค์กรประชาชนที่ได้ร่วมออกแถลงการณ์ในครั้งนี้ด้วย ได้แก่
1. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้
2. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคใต้
3. เครือข่ายชนเผ่าภาคใต้
4. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้
5. เครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา
6. เครือข่ายชาวเลภาคใต้
7. เครือข่ายชาติพันธุ์ชนเผ่ามอแกน-มอแกลน
8. สภาชนเผ่าพื้นเมือง
9. เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
10. เครือผู้ประสบภัยสีนามิ
11. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
12. เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล
13. สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ
14. สมาคมรักษ์ทะเลไทย
15. มูลนิธิอันดามัน
16. มูลนิธิป่าทะเลเพื่อชีวิต
17. เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดพังงา
18. สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
19. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้
20. เครือข่ายปกป้องแหล่งผลิตอาหารภาคใต้
21. โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศภาคใต้
22. เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานภาคใต้
23. ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน
24. สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสงขลา
25. สมาคมรักษ์ทะเลกระบี่
26. สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร
27. สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา
28. เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา
29. สถาบันศานติธรรม
30. เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต
31. เครือข่ายพลเมือง
32. เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานสงขลา
33. เครือข่ายรักษ์อ่าวปากบารา
34. ชมรมประมงพื้นบ้านสตูล
35. ชมรมมัคคุเทศก์สตูล
36. ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
37. สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี
38. สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ
39. เครือข่ายสตรีธรรมาภิบาล
40. เครือข่ายชาวพุทธปัตตานี
41. เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพชายแดนใต้
42. กลุ่มสิทธิมนุษยชนปาตานี
43. เครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิตภาคใต้
44. มหาลัยลานหอยเสียบ
45. โครงการพลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่
46. เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น จังหวัดระนอง ประจวบฯ
47. ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำสิทธิมนุษยชนลุ่มน้ำปากพนัง
48. เครือข่ายรักษ์ชุมพร
49. เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานจังหวัดกระบี่
50. กลุ่มอนุป่าชายเลบ้านท่าน้ำเค็ม
51. กลุ่มคนรุ่นใหม่ใจอาสาภาคใต้
52. เครือข่ายปกป้องอุทยานแห่งชาติเภตรา-ตะรุเตา
53. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
54. กลุ่มศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม
55. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
56. เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี
57. กลุ่มรักจังสตูล
58. อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านอำเภอหัวไทร