xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าพัฒนา “แพะดำวังคีรี” ต้นกำเนิดสายพันธุ์พื้นเมืองตรัง ป้อนเข้าสู่ตลาดอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ตรัง เดินหน้าพัฒนา “แพะดำวังคีรี” แพะพันธุ์พื้นเมืองใน ต.วังคีรี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ให้กลับมาโด่งดังอีกครั้ง เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดสูง หลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เนื่องจากมีขนาดเล็ก และเนื้อมีรสชาติอร่อย

วันนี้ (25 ส.ค.) นายสวัสดิ์ คงหนู หัวหน้าสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ตรัง กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ธุรกิจการค้าต่างๆ เกิดความกว้างไกลมากยิ่งขึ้น ประกอบกับพื้นที่ จ.ตรัง ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งประเทศมาเลเซีย ซึ่งให้ความนิยมบริโภคเนื้อแพะในปริมาณที่สูง โดยเฉพาะการนำไปใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของชาวมุสลิม สถานีวิจัยจึงได้สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาเลี้ยงแพะกันมากขึ้น เนื่องจากยังคงมีความต้องการสั่งซื้อจากตลาดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงได้มีการพัฒนาแพะดำวังคีรี ซึ่งเคยโด่งดังเมื่อครั้งอดีต และมีต้นกำเนิดมาจากแพะพันธุ์พื้นเมืองใน ต.วังคีรี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ให้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกครั้ง โดยสถานีวิจัยเริ่มทำการปรับปรุงสายพันธุ์ไว้เมื่อปี 2544 แต่หลังจากนั้น ก็ต้องยุติลงไปเนื่องจากมีภาระงานในด้านอื่น กระทั่งล่าสุด ได้กลับมาสร้างพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ชุดใหม่ที่มีความดำถูกต้องตามสายพันธุ์ดั้งเดิม 100% คือ ขนดำ หนังดำ เล็บเท้าดำ จนมีแม่พันธุ์แล้วถึง 90 ตัว และต่างก็ให้ผลผลิตออกมาเป็นลูกแพะวัยต่างๆ จำนวนหลายร้อยตัว
 

 
ทั้งนี้ สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ตรัง ถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แพะดำวังคีรี จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ ตามนโยบายของกรมปศุสัตว์ เพื่อหวังให้แพะชนิดนี้ขยายพันธุ์ออกไปกว้างขวาง และมีการเลี้ยงเป็นอาชีพ หลังจากที่แทบจะสูญหายไปแล้ว โดยแพะขนาดน้ำหนักตัวละไม่เกิน 15 กิโลกรัม จะมีราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 170 บาท หรือมีราคาประมาณตัวละ 2,500-3,000 บาท ซึ่งถือเป็นขนาดที่ตลาดต้องการสูง เนื่องจากมีราคาไม่สูงจนเกินไป และสามารถนำไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ของชาวมุสลิมได้ง่าย โดยเฉพาะการแก้บน

แพะดำวังคีรี ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์พื้นเมืองไทยประจำถิ่น มีจุดเด่น คือ เป็นแพะที่มีขนาดเล็ก เนื้อจึงมีรสชาติอร่อยกว่าแพะทั่วไป มีการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาวได้เร็ว และใช้ผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 8-10 เดือน นอกจากนั้น ยังมีความสมบูรณ์ของพันธุ์สูง แม่แพะจึงคลอดลูกได้ครั้งละ 1-3 ตัว แถมยังมีเปอร์เซ็นต์การให้ลูกแฝดสูง อีกทั้งใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงลูกสั้น จึงตั้งท้องใหม่ได้เร็ว ขณะเดียวกัน แพะสายพันธุ์นี้ยังปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี จึงมีความทนทานต่อสภาพอากาศที่ร้อนชื้นในภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
 



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น