xs
xsm
sm
md
lg

เวทีเครือข่ายสันติวิธีฯ ชี้สันติภาพใต้เปรียบเหมือนผีหลอก มีแต่จับต้องไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นราธิวาส - นราธิวาสจัดเวทีเครือข่ายสันติวิธี เดินหน้ากระบวนการสร้างสันติภาพ ชี้สันติภาพใต้เปรียบเหมือนผีหลอก มีแต่จับต้องไม่ได้ ไร้รูปธรรม รัฐ และกลุ่มขบวนการฯ ต่างอ้างทำเพื่อประชาชน

วันนี้ (23 ส.ค.) ที่ห้องประชุมผกากรอง วิทยาลัยชุมชุมชน จ.นราธิวาส สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรประชาสังคมนราธิวาส ได้จัดโครงการเสวนา เครือข่าย องค์กร ประชาสังคม กับกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ โดยมี รศ.ดร.โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.จังหวัดนราธิวาส ศูนย์ประสานองค์การเอกชน จ.นราธิวาส พ.อ.สายน้ำ พินิจอักษร ศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมเป็นวิทยากร ทั้งนี้ ได้มีตัวแทนเครือข่ายองค์กรและกลุ่มเพื่อสันติภาพในพื้นที่ เช่น กลุ่มสื่อมวลชนเพื่อสันติ จ.ชายแดนภาคใต้ กลุ่มเยาวชนพัฒนาบ้านเกิด กลุ่มชาวไทยพุทธ จ.นราธิวาส กลุ่มสตรี จ.นราธิวาส และกลุ่มเพื่อสันติสุขในพื้นที่กว่า 100 คน เข้าร่วมเสวนา

นายอับดุลปาตะ ยูโซะ ประธานเครือข่ายเยาวชนพัฒนาบ้านเกิด จ.ชายแดนใต้ Pemuda Pembila salatan (PPS) ได้แสดงแนวคิดว่า กระบวนการสันติภาพ หลายคนถามว่ามีจริงหรือไม่ หรือเปรียบเสมือนผีหลอก เป็นความเชื่อว่ามีผีเป็นวิญญาณ แต่เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ จึงมีความคิดว่า การสร้างกระบวนการสร้างสันติภาพจึงต้องให้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่มาแต่จากรัฐบาลฝ่ายเดียว ซึ่งกระบวนการสร้างเจรจาสันติภาพเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2555 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันเป็นยุครัฐบาล คสช. ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐ และฝ่ายกลุ่มขบวนการฯ ต่างหยิบยกอ้างความชอบธรรมเพื่อประชาชน ทั้งที่ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในชีวิต และทรัพย์สิน ตลอดจนเศรษฐกิจในพื้นที่ แทบไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเห็นชอบ หรือมีส่วนในกระบวนการที่อ้างดังกล่าว จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องทบทวนบทบาท เพื่อให้กระบวนการสร้างสันติภาพเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม
 

 
ด้าน น.ส.นุรหม๊ะ วี กลุ่มองค์กรกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จ.นราธิวาส กล่าวว่า ความจริงใจต่อกระบวนการสร้างสันติภาพเป็นเรื่องใหญ่ ต้องอาศัยความอดทน ความจริงใจ และรัฐบาลต้องใจกว้างในการรับฟังผู้เห็นต่างด้วย และสืบเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 ปี ทำให้พื้นที่ได้รับความบอบช้ำจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลแสดงความจริงใจ ประกาศแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ

รศ.ดร.โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะวิทยากรให้ความเห็นและแลกเปลี่ยน ได้ให้มุมมองว่า การใช้กำลังอำนาจด้วยการคุมอำนาจ ใช้อาวุธจากปลายกระบอกปืน เป็นการแสวงหาอำนาจและได้มาซึ่งอำนาจ ไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาอีกวิธีทางที่สร้างความมั่นคงได้นั่นคือ หนทางสันติวิธี และรัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนในพื้นที่รอบด้าน ต้องเปิดอย่างใจกว้าง และรัฐต้องฟังการสะท้อนจากจุดเล็กๆ คือ ประชาชน เพื่อนำสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความมั่นคงได้ในอนาคต

ขณะที่ นายนัจมุดดีน อูมา อดีต สส.จังหวัดนราธิวาส ศูนย์ประสานองค์การเอกชน จ.นราธิวาส กล่าวว่า กระบวนการสร้างสันติภาพที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเจรจากับกลุ่มเห็นต่าง กลุ่มขบวนการ BRN หรือกลุ่ม MARA PATANI ยังเป็นรูปแบบฝ่ายอำนวยความสะดวก พร้อมยกตัวอย่าง กระบวนการสร้างสันติสุขประเทศไอร์แลนด์เหนือ ได้มีการผ่านตัวกลาง คือ นายบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะนายบิล คลินตัน มีเชื้อสายไอริช และเป็นบุคคลที่โลกยอมรับ จึงสามารถนำสู่กระบวนการสันติภาพได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดสันติภาพได้จริง ซึ่งจังหวัดชายแดนภาคใต้การเจรจาสันติภาพที่จะเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีคนกลาง แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีคนกลางหรือตัวกลางที่มีศักยภาพ และเป็นที่ยอมรับ ในเดือนกันยายน 59 ตัวแทนรัฐบาลไทยจะเปิดเวที เจรจาสันติภาพกับกลุ่มขบวนการฯ ที่ประเทศมาเลเซียอีกครั้ง

สำหรับเวทีเสวนาประชาสังคม กระบวนการสร้างสันติภาพในครั้งนี้ ได้ให้ภาคประชาชนร่วมแสดงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านการเขียน การพูด และการตอบคำถาม เพื่อแสดงถึงความจริงใจในการนำสู่การขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น