xs
xsm
sm
md
lg

สอนชำแหละ! สัตวแพทย์มืออาชีพสอนผ่าซากและตรวจสุขภาพ สร้างคนรุ่นใหม่อนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ทีมสัตวแพทย์จากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับนักวิจัยไทยสาธิตวิธีการตรวจสุขภาพสัตว์ทะเลหายากและการผ่าพิสูจน์ซากสัตว์ทะเลหายาก ทั้งโลมา พะยูน แมวน้ำ และเต่าทะเล ให้แก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และฝั่งทะเลอันดามัน มุ่งสร้างมืออาชีพดูแลสัตว์ทะเลได้อย่างรวดเร็ว

วันนี้ (19 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำราชมงคล อ.สิเกา จ.ตรัง ทีมสัตวแพทย์จากหลายประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเข้าร่วมเป็นเครือข่ายนักวิจัยในภูมิภาคเอเชียฯ รวม 35 คน ร่วมกันสาธิตวิธีการตรวจสุขภาพสัตว์ทะเลหายาก และการผ่าพิสูจน์ซากสัตว์ทะเลหายาก ทั้งโลมา พะยูน แมวน้ำ และเต่าทะเล เพื่อให้ความรู้แก่ทีมสัตวแพทย์ และนักศึกษาคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และฝั่งทะเลอันดามัน
 

 
เพื่อสร้างทีมงานสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญในพื้นที่ซึ่งจะสามารถช่วยชีวิตสัตว์ทะเลได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ไม่ต้องรอทีมสัตวแพทย์จาก จ.ภูเก็ต แต่เพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ ยังย่นระยะเวลาในการส่งซากสัตว์ทะเลไปยัง จ.ภูเก็ต ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพของทีมสัตวแพทย์ใน จ.ตรัง และจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจาก จ.ตรัง เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลหายากจำนวนมากที่สุดในฝั่งอันดามัน

โดยเฉพาะพะยูน ขณะเดียวกัน ก็พบอัตราการตายที่มากกว่า 10-15 ตัวต่อปี และยังพบขึ้นมาเกยตื้นอีกหลายจุด แต่ยังไม่มีทีมสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญในพื้นที่ ทำให้ที่ผ่านมาประสบปัญหาสัตว์ทะเลตาย และเคลื่อนย้ายด้วยความยากลำบาก โดยหลังการเรียนรู้ในครั้งนี้แล้วคาดจะสามารถช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากได้เพิ่มมากขึ้น
 

 
ซึ่งการสาธิตวิธีการผ่าซากสัตว์ทะเลหายาก และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นต้องใช้เวลาฝึกสอนอีกหลายครั้งจนเกิดความชำนาญ หรือไม่ต่ำกว่า 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ ด้าน ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกนำคณะเดินทางมาศึกษาที่ จ.ตรัง เพราะ จ.ตรัง เป็นบ้านของสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด

โดยมีวิทยากรจากญี่ปุ่น และไทย ส่วนผู้เข้าร่วมอบรมมาจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมองว่าไทยไม่สามารถอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากเฉพาะถิ่นได้ ต้องร่วมกันหลายประเทศเอเชียในการดูแลสุขภาพร่วมกัน ซึ่งมีทั้งการตรวจสุขภาพ และผ่าพิสูจน์เต่าทะเล โลมา พะยูน และแมวน้ำ โดยซากส่วนหนึ่งเก็บไว้เพื่อการศึกษา และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปฝัง
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น