คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
เสียงปืน เสียงระเบิด และความสูญเสียใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เงียบไปได้แค่สัปดาห์เดียวหลัง “เดือนรอมฎอน” เท่านั้น
เพราะตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นมา ทั้งเสียงระเบิดแสวงเครื่อง และเสียงปะทะของกระสุนปืนก็กลายเป็น “เหตุร้ายรายวัน” ที่สร้างความสูญเสียให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนเดิม
แม้ว่าพื้นที่เกิดเหตุจะไม่ใช่ใน “7 หัวเมืองเศรษฐกิจหลัก” แต่เป็น “พื้นที่รอบนอก” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ตายเหมือนกัน เจ็บเหมือนกัน และสูญเสียเช่นเดียวกัน
สิ่งที่ขอตั้งขอสังเกต เพราะเห็นว่ายังเป็นปัญหาเดิมๆ ที่หน่วยงานของรัฐยังแก้ไม่ตกคือ เรื่องของ “รถยนต์” และ “จักรยานยนต์” ที่ถูก “แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ปล้นชิงไปเพื่อทำ “คาร์บอมบ์” และ “จยย.บอมบ์” คันแล้วคันเล่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังหาแหล่งที่นำรถไป “ดัดแปลง” และ “ซุกซ่อน” ไม่เจอ แต่ไปเจออีกครั้งก็คือ “ซากรถ” หลังการก่อเหตุ
ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ คือ การนำคาร์บอมบ์น้ำหนัก 90 กิโลกรัม ไปถล่มปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งใน อ.รามัน จ.ยะลา รถยนต์คันที่ถูกนำไปทำเป็นคาร์บอมบ์ คือ รถที่แนวร่วมยิงเจ้าของรถตาย และชิงไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมนี่เอง เหตุเกิดในพื้นที่ ต.ลำใหม่ จ.ยะลา ก่อนที่ในวันที่ 2 สิงหาคมจะนำไปใช้หวังถล่มปั๊มน้ำมันดังกล่าว แถมที่เกิดเหตุยังเป็นพื้นที่ในจังหวัดเดียวกันด้วย
แม้ว่าครั้งนี้เจ้าของปั๊มน้ำมันจะ “โชคดี” ที่ระเบิดที่ประกอบในรถยนต์เกิดด้าน และเจ้าหน้าที่สามารถ “แกะรอย” คนร้ายได้สำเร็จจนจับกุมแนวร่วมผู้ทำหน้าที่ประกอบระเบิดได้ ในพื้นที่ ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส พร้อมทั้งยึดระเบิดได้อีก 2 ลูก ซึ่งได้เตรียมจะนำไปก่อเหตุในพื้นที่เป้าหมาย
ปัญหาที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบต้องปรับปรุง แก้ไขคือ ทำอย่างไรเจ้าหน้าที่จะเข้าถึงแหล่งที่นำรถไป “แปลงสภาพ” เช่น การเปลี่ยนสี และอื่นๆ เพราะหากเจ้าหน้าที่มีขีดความสามารถในการติดตามรถที่ถูกปล้นชิงไปได้ ทั้งรถยนต์ และ จยย.ก็จะสามารถป้องกันคาร์บอมบ์ และ จยย.บอมบ์อย่างได้ผล
เพราะการป้องกันนั้นไม่ได้หมายความว่าปล่อยให้รถยนต์ และจักรยานยนต์ที่ถูกปล้นชิงไปถูกนำไปเป็นคาร์บอมบ์ และ จยย.บอมบ์จนเกิดความสูญเสียขึ้นแล้ว จึงค่อยแกะรอยติดตามจับกุมคนร้าย แม้ว่าจะรู้ตัว พร้อมได้ออกหมายจับและอาจจะติดตามจับกุมได้ แต่ความเสียหาย ความสูญเสียก็ไม่อาจจะเรียกคืนกลับมาได้เหมือนเดิม
อย่างกรณี จยย.บอมบ์ที่ ต.จะแหน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งมี “ตชด.” ตกเป็นเหยื่อถึง 6 นาย และ จยย.บอมบ์ที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส โดยเป้าหมายของแนวร่วมคือ รถยนต์ของ “นายอำเภอศรีสาคร” ที่แม้นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่เพียงบาดเจ็บระนาว
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แสดงให้เห็นถึงความรุนแรง และความไม่ปลอดภัยในพื้นที่ ซึ่งมีผลทั้งใน “ทางการเมือง” และ “ทางการทหาร” รวมถึง “ความเชื่อมั่น” ของประชาชนในพื้นที่
อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ การใช้อาวุธสงครามยิงใส่ศาสนสถาน เช่น มัสยิด รวมถึงยิงผู้นำศาสนา และผู้ที่ไปละหมาดที่หน้ามัสยิดเกิดขึ้นบ่อยมาก ซึ่งล่าสุด มีการใช้อาวุธสงครามยิงเข้าไปในมัสยิดบ้านไทรม้า ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
หลังเกิดเหตุทุกครั้ง “บีอาร์เอ็น” จะทำการ “ป้ายสี” ว่าเป็นการลงมือของเจ้าหน้าที่รัฐ และคนในพื้นที่ก็จะเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นจริง
เพราะคนในพื้นที่ที่เป็น “มุสลิม” มีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า มุสลิมจะไม่กระทำต่อศาสนสถานอย่าง มัสยิด รวมทั้งการฆ่าผู้นำศาสนา เพราะเป็นความผิดบาปอย่างใหญ่หลวงในหลักศาสนาอิสลาม โดยที่ผู้ที่เชื่ออย่างนี้ไม่มีความเข้าใจว่าแนวร่วมผู้ปฏิบัติการตามคำสั่งของบีอาร์เอ็นคือ คนที่ “ไม่มีศาสนา” ไม่ใช่ “อิสลาม” แต่เป็น “โจรที่ไม่มีศีลธรรม” ในหัวใจ
“จุดอ่อน” ของหน่วยงานรัฐก็คือ ไม่สามารถจับกุมคนร้ายที่ทำความผิดมาป่าวประกาศให้คนในพื้นที่ได้รับรู้ว่าเป็นผู้ก่อเหตุตัวจริง จนสุดท้ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงถูก “กระพือ” ด้วย “ลมปาก” ว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ และคนในพื้นที่ก็จะเชื่อตามหลักการที่ว่า “ความเท็จ” เมื่อถูกตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาก็จะกลายเป็นความเชื่อว่าเป็น “เรื่องจริง”
แค่ 2 เรื่องที่เป็นเรื่อง “ไม่ซับซ้อน” แต่เป็นเรื่อง “เร่งด่วน” ที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบต้องเร่งแก้ไข เพื่อที่จะลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะหากแก้ 2 เรื่องนี้ไม่ได้ สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะ “วนเวียน” อยู่อย่างนี้แบบไม่รู้จักจบสิ้น
ข้อสังเกตเรื่องที่ 3 คือ เรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” ซึ่งเมื่อหลายวันก่อน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมที่ค่ายสิรินธร ซึ่งก็ยังพบว่า 4 ปีของการ “จัดการ” กับภัยแทรกซ้อนนั้น ในเรื่องภัยอื่นๆ เช่น ผู้มีอิทธิพล การค้ามนุษย์อาจจะลดความรุนแรงลง แต่ในเรื่องของ “ยาเสพติด” โดยเฉพาะ “ยาบ้า” กับ “ใบกระท่อม” มีแต่โตมากขึ้น
สาเหตุในการที่ “ยิ่งปราบ ยิ่งโต” น่าจะมาจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดการต่อ “ต้นตอ” ของปัญหาอย่างแท้จริง เพราะผู้ที่อยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติด “รายใหญ่” นั้น คนในพื้นที่รู้กันดีว่ากว่าครึ่งเป็น “คนในเครื่องแบบ” และ “ผู้นำท้องที่-ท้องถิ่น” ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
โดยมีข้อสังเกตว่า การจับกุมผู้ค้าที่เป็น “ชาวบ้าน” ยิ่งจับมาก “ยิ่งเอื้อประโยชน์” ให้แก่คนในเครื่องแบบ เพราะเป็นการตัดคู่แข่ง และเพื่อให้สร้างการผูกขาดในการค้าให้ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น
โดยข้อเท็จจริงปัญหา “ไฟใต้” ตัวเอกของเรื่องที่เป็นคู่ต่อสู้ของรัฐไทยคือ บีอาร์เอ็น ส่วนประเด็นอื่นไม่ว่าเป็นเรื่องภัยแทรกซ้อน หรือเรื่องอื่นๆ ล้วนเป็นเรื่อง “ปลีกย่อย” ที่ไม่ใช่ประเด็นในการ “ชี้เป็นชี้ตาย” ดังนั้น ในการที่จะดับไฟใต้ให้ได้ผลอย่างจริงๆ จึงต้องจัดการกับบีอาร์เอ็นให้เด็ดขาด ซึ่งต้องมีชัยชนะในด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งในด้านการเมือง และการทหาร
วันนี้บีอาร์เอ็นได้ปรับโครงสร้างใหม่ให้เป็นขบวนการ “ปิดลับ” อีกครั้ง และมีเป้าหมายในการ “ยึดสถานศึกษา” เพื่อใช้บ่มเพาะมวลชนอีกครั้ง โดยตั้งเป้าหมายใน 10 ปีข้างหน้าจะเป็นวันที่ลุกขึ้นต่อสู้ด้วยเรื่อง “ประชามติ” ซึ่ง 10 ปีสำหรับบีอาร์เอ็นนั้น เขารอได้ เพราะเขารอมาเป็น 100 ปีแล้ว วันนี้เขาจึงยังไม่ละความพยายาม
แต่สำหรับรัฐไทย ทุกๆ วันที่ผ่านไปเป็นการผ่านพ้นที่ตั้งอยู่บนความสูญเสียของเจ้าหน้าที่รัฐ และของประชาชน ดังนั้น รัฐไทยจึงรอไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะยิ่งนานวันยิ่งสร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้น และ “ยิ่งตอกย้ำ” ให้เห็นถึง “ประสิทธิภาพ” ของรัฐในการดับไฟใต้
ดังนั้น “กองทัพ” โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะต้องเลือกและจะต้องทำให้สำเร็จในด้านใดด้านหนึ่ง ระหว่าง “ชัยชนะทางการทหาร” หรือ “ชัยชนะทางการเมือง” ไม่ใช่อยู่ในลักษณะของการ “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” วนๆ ถอยๆ แบบ “ขี่ม้าเลียบค่าย” อย่างที่เป็นมากว่า 12 ปี
โดยเฉพาะในเดือนนี้จะเห็นว่า สถานการณ์ของ 4 จังหวัดภาคใต้นั้น บีอาร์เอ็น และกลุ่มการเมืองในพื้นที่ได้หยิบเอาเรื่อง “การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” มาใช้ในการเคลื่อนไหวในทางการเมือง ทั้งการ “ปลุกระดมไม่เห็นด้วย” กับร่างรัฐธรรมนูญ และใช้วิธีการ “ก่อเหตุรุนแรง” ทั้ง 4 จังหวัด เพื่อประกาศจุดยืนของ “ตัวตน” ต่อมวลชนในพื้นที่
ถามว่าสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เยี่ยงนี้ เราจะปล่อยให้บีอาร์เอ็นเล่นเป็น “ผู้นำ” และเราเล่นเป็น “ผู้ตาม” อย่างนี้อีกนานเท่าไหร่ และเมื่อไหร่ที่เราจะเล่นเป็นผู้นำ เพื่อก้าวไปสู่ชัยชนะอย่างแท้จริง
“สามเหลี่ยมความมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน” เป็นโครงการที่ดี แต่ก็จะประสบความสำเร็จได้ยากมาก หากเรายังไม่สามารถที่จะอาชนะบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นศัตรูหมายเลข 1 อย่างแท้จริง