xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมเห็นด้วยเยียวยาเจ้าของที่ดินแก้ปัญหาชาวเลราไวย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ลงภูเก็ตติดตามการแก้ไขปัญหาชาวไทยใหม่ราไวย์ ย้ำเห็นด้วยแนวคิดจังหวัดแก้ปัญหาโดยการซื้อคืน หรือเยียวยาให้เจ้าของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ 20 กว่าไร่ เพื่อเอากลับมาเป็นของรัฐก่อนเข้าไปบริหารจัดการเพื่อปรับกรุงคุณภาพชีวิตชีวิตให้ดีขึ้น แต่เรื่องการตรวจสอบการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิก็ยังต้องดำเนินการต่อ ขณะที่ปัญหากับ บริษัท บารอน ยังไมจบ ศาลนัดไถ่สวนคดีชาวไทยใหม่ยื่นขอคุ้มครอง 15 ส.ค.นี้

เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (29 ก.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางหลังใหม่ จ.ภูเก็ต คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นำโดย นายอโณทัย ฤทธิ์ปัญญาวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นายอำพล จินดาวัฒนะ รองประธาน พล.อ.ปราการ ชลยุทธ์ กรรมการและที่ปรึกษา พร้อมด้วยคณะ ร่วมประชุมกับ นายประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมทั้ง นางปรีดา คงแป้น ตัวแทนจากอนุกรรมการสิทธิชุมชนเข้มแข็ง นายชาตรี หมาดสตูล ตัวแทนจากบริษัทมารอน เข้าร่วมประชุม และชี้แจงถึงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นรวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาชาวไทยใหม่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะกรณีข้อพิพาทเรื่องที่อยู่อาศัยกับเจ้าของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ และกรณีข้อพิพาทเรื่องชายหาด และทางเดินกับทางบริษัทบารอน

นายอโณทัย ฤทธิ์ปัญญาวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวในการประชุมถึงการเดินทางลงมาในพื้นที่ครั้งนี้ว่า เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีปัญหาชาวไทยใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ ปัญหาที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นปัญหาระดับประเทศที่จะต้องร่วมกันแก้ไข ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ให้ความสำคัญแก่ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งในส่วนของชาวไทยใหม่ ในส่วนของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปที่จังหวัดพังงามาแล้ว สำหรับวันนี้เป็นการมารับฟังปัญหาในส่วนของจังหวัดภูเก็ต

นายประเจียด อังษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ชี้แจงถึงความเป็นมาของชาวไทยใหม่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่า ในภูเก็ตมีชาวไทยใหม่ หรือชาวเลอาศัยอยู่ในพื้นที่จำนวน 5 กลุ่มในพื้นที่ต่างๆ ประกอบด้วย ชาวเลบ้านหินลูกเดียว ชาวเลบ้านแหลมหลา ชาวเลบ้านสะปำ ชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแก และชาวเลบ้านราไวย์ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีปัญหาไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่ สำหรับในส่วนของราไวย์นั้นมีการตั้งชุมชนอยู่บนที่ดินของเอกชน ขณะนี้กำลังมีการฟ้องร้องกันอยู่หลายราย ซึ่งนอกจากปัญหาเรื่องที่ดินแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก ทั้งเรื่องน้ำ เรื่องไฟฟ้า ที่ต้องจ่ายในราคาสูงกว่าที่อื่น ซึ่งชาวไทยใหม่ในพื้นที่ต้องการสิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัย ต้องการไฟฟ้า ต้องการระบบประปา ระบบสาธารณูปโภค แต่ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้เนื่องจากติดปัญหาเรื่องที่ดิน

ซึ่งเรื่องนี้ทางจังหวัดได้ทำยื่นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของชาวไทยใหม่ไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยวางแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้ 2 แนวทาง คือ ในส่วนของการตั้งชุมชนของชาวไทยใหม่ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิของบุคคลอื่น จำนวน 20 ไร่เศษ จากการประชุมหารือกันมาหลายทางเจ้าของยินดีที่จะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ทางภาครัฐเพื่อนำไปบริหารจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยให้แก่ทางชาวไทยใหม่ ซึ่งทางจังหวัดได้ทำโครงการเสนอไปแล้ว ในส่วนของที่ดินราคาประมาณอยู่ที่ 90 กว่าล้านบาท แต่ถ้าทำทั้งโครงการรวมในเรื่องของสาธารณูปโภค เรื่องที่อยู่อาศัยเข้าไปด้วยจะต้องใช้งบประมาณ จำนวน 250 กว่าล้าน สำหรับแนวทางนี้ในเบื้องต้นเจ้าของที่ดินยินดีที่จะขายให้แก่ทางภาครัฐ ซึ่งถ้าทำได้ปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องน้ำ ไฟ เรื่องของคุณภาพชีวิตก็จะได้รับการแก้ไขทันทีภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี ส่วนกรณีมีการตรวจสอบข้อมูลการได้ซึ่งเอกสารสิทธินั้นก็ดำเนินการไปตามกฏหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่ถ้าไม่ทำในรูปแบบของคู่ขนานเชื่อว่าอีก 10 ปี ปัญหาของชาวไทยใหม่ก็จะยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะปัญหาทุกอย่างจะมีความเกี่ยวพันไปกับเรื่องที่ดินทั้งหมด

ส่วนแนวทางที่ 2 ในการแก้ไขปัญหา ทางจังหวัดจัดพื้นที่ จำนวน 50 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองชีเหล้า-คลองท่าจีน ต.รัษฎา อ.เมือง ซึ่งอยู่ห่างจากราไวย์ ประมาณ 20 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากหมู่บ้านชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแก ประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อรองรับกลุ่มชาวไทยใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา ทางจังหวัดได้ทำแปลนข้อมูลไว้แล้วแต่ปรากฏว่าชาวเลไม่ต้องการที่จะย้ายจากที่อยู่เดิม เพราะขัดต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ ส่วนกรณีการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทของชาวไทยใหม่กับทางบริษัทบารอน ในเรื่องของพื้นที่ชายหาดสำหรับประกอบอาชีพ และเรื่องของทางเดินเพื่อไปประกอบพิธีที่บาลัยนั้น ที่ผ่านมาได้มีการหารือกันมาหลายครั้งแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อยุติของการแก้ปัญหา

ขณะที่ นางปรีดา คงแป้น ตัวแทนจากอนุกรรมการสิทธิชุมชนเข้มแข็ง กล่าวว่า เห็นด้วยต่อข้อเสนอของทางจังหวัดในการที่จะเอาที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นของรัฐก่อนจะเป็นวิธีการซื้อ หรือเยียวยาก็ตาม เพื่อให้ชาวไทยใหม่ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ซึ่งขณะนี้ชาวไทยใหม่ถูกฟ้องรองอยู่หลายราย บางรายศาลตัดสินไปแล้ว บางรายอยู่ระหว่างการไต่สวน ส่วนเรื่องของการสืบค้นข้อมูลการออกเอกสารสิทธิว่าได้มาอย่างไร ก็ดำเนินการต่อไป เพราะมีหน่วยงานที่เข้ามาดุแลอยู่แล้ว ส่วนการย้ายชาวเลไปอยู่ที่อื่นเป็นไปไม่ได้ ที่ผ่านมา ชาวเลไม่เคยมีปัญหากับใครแต่ที่ต้องออกมาขณะนี้ก็เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของหาดสาธารณะ และเรื่องทางเดินไปประกอบพิธีที่บาลัย จนกลายเป็นข้อพิพาทกับทางบริษัทบารอนอยู่ในขณะนี้ สำหรับในส่วนของทางบริษัทบารอนนั้นวันที่ 15 ส.ค. นี้ ศาลจังหวัดภูเก็ตนัดไต่สวนคดีชาวไทยใหม่ร้องศาลคุ้มครอง ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องรอต่อไป

ขณะที่ นายชาตรี หมาดสตูล ตัวแทนจากบริษัทบารอน กล่าวว่า ในส่วนของที่ดินของบริษัทฯ จำนวน 30 ไร่ ซึ่งซื้อต่อมาเป็นมือที่ 3 ในราคา 300 กว่าล้านบาท ขณะนี้ยังไม่มีชาวบ้านไทยใหม่บุกรุกเข้าไปอาศัย เพียงแต่ที่ผ่านมา ทางบริษัทต้องการที่จะพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิของทางบริษัทเท่านั้นแต่ได้รับการขัดขวางมาโดยตลอด จนถึงขณะนี้รถแบ็กโฮที่เอาเข้าไปทำงานยังไม่สามารถนำออกมาได้เลย ส่วนเรื่องของชายหาสาธารณะนั้นทางบริษัทไม่เกี่ยวข้อง แต่เรื่องทางเดินที่ทางชาวเลอ้างว่าเป็นทางเดินสาธารณะทางบริษัทมีหลังฐานยืนยันชัดว่าไม่ใช่ จนถึงขณะนี้ทางบริษัทก็ยังไม่สามารถที่จะทำงานได้

อย่างไรก็ตาม หลังการประชุม นายอโณทัย ฤทธิ์ปัญญาวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า จากการรับฟังข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตนเห็นด้วยต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินที่มีเอกสารสิทธิซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวไทยใหม่ว่ารัฐควรจะเข้าไปเยียวยาในจุดนี้ โดยจ่ายเงินให้แก่เจ้าของเอกสารสิทธิ เพราะเอกสารสิทธิบางรายชื้อต่อ และมีการเปลี่ยนมือกันมาหลายรายแล้ว การที่จะรอให้มีการตรวจสอบเรื่องการออกเอกสารสิทธิเรื่องที่ดินคิดว่าคงจะต้องใช้เวลานาน ซึ่งอาจจะไม่ทันการแต่ก็ต้องดำเนินการควบคู่กันไป ซึ่งเรื่องนี้เคยนำเสนอที่ประชุมคระกรรมาธิการไปแล้ว ทางกรรมาธิการก็เห็นด้วย เพียงแต่การลงครั้งนี้เพื่อมาเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในบางประเด็น และลงตรวจสอบพื้นที่จริงเท่านั้น หลังจากนี้ ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายต่างๆ ต่อไป ส่วนกรณีของทางบารอน ก็คงจะต้องมีการพุดคุยกันอีกเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น