ปัตตานี - ศอ.บต.เร่งขยายพื้นที่โครงการ Smart Farm ในพื้นที่บ้านเกาะเปาะ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พร้อมลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับชาวบ้าน มุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรกรรมด้วย “กลไกประชารัฐ”
วันนี้ (27 ก.ค.) ที่มัสยิดยาแมะ บ้านเกาะเปาะ หมู่ที่ 2 ต.เกาะเปาะ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นายปรีชา ชนะกิจกำจร ผอ.สำนักพัฒนาบุคลากร ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับกลุ่มชาวบ้าน พร้อมติดตามการไถดินในพื้นที่ตามกิจกรรมบูรณาการเกษตรก้าวหน้าริมทางหลวง (Smart Farm) ในพื้นที่บ้านเกาะเปาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ขยายเพิ่มเติมจากพื้นที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยมี นายอิสมาแอ เจะดือเระ ประธานกลุ่มการเกษตรก้าวหน้าริมทางหลวง (Smart Farm) ในพื้นที่บ้านเกาะเปาะ และชาวบ้านเข้าร่วมพบปะพูดคุย
โดยในพื้นที่ ต.เกาะเปาะ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน หมู่บ้านที่เสนอโครงการสนับสนุนโครงการบูรณาการการเกษตรก้าวหน้าริมทางหลวง (Smart Farm) คือ หมู่ที่ 2 ต.เกาะเปาะ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 โดยชาวบ้านมีความประสงค์ที่จะดำเนินการฟื้นฟูนาร้างในพื้นที่ สนใจการปลูกถั่วเขียว กล้วยหอม และกล้วยหิน ติดริมถนนทางหลวงแผ่นดินเลข 43 ทั้ง 2 ฝั่งถนน
สำหรับเนื้อที่ในการดำเนินการตามโครงการฯ นั้น ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 เชื่อมกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 มีเนื้อที่โดยประมาณ 130 ไร่ มีสมาชิกที่ขอเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 50 คน โดยในวันนี้จะเป็นการไถดินเพื่อทำการรอหว่านเมล็ดถั่วเขียว ซึ่งมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 70 วัน หลังจากนั้น ชาวบ้านมีความประสงค์จะดำเนินการปลูกข้าวทำนาปีต่อไป
สำหรับโครงการบูรณาการเกษตรก้าวหน้าริมทางหลวง หรือโครงการ Smart Farm เป็นแนวทางที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพัฒนาเกษตรกรรมด้วย “กลไกประชารัฐ” ซึ่งประกอบด้วย ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กลไกรัฐในการขับเคลื่อนการบูรณาการทำงานร่วมกัน ด้วยการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร และปศุสัตว์ ทั้งในลักษณะการเพาะปลูกเดิม และให้เพิ่มเติมพืชผลอื่นๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น พืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้เศรษฐกิจ และการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจในลักษณะเกษตรผสมผสาน เพื่อเพิ่มรายได้ร่วมกับการฟื้นฟู การปรับภูมิทัศน์พื้นที่รกร้างให้มีความสวยงามสำหรับผู้คนที่สัญจรไปมา
โดยได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง “การปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง” และพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่อง “คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน” มาเป็นแนวทางหลักของการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม