กระบี่ - กุ้งหัวเรียวจำนวนนับแสนตัว โผล่ปากแม่น้ำกระบี่ ชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดกระบี่ นำเรือหางยาวกว่า 200 ลำ แห่ปิดล้อมทอดแหจับกุ้งกันได้จำนวนมาก บรรยากาศคึกคัก สร้างรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท เผยปีนี้กุ้งหัวเรียวมีจำนวนมากกว่าทุกปี เกิดจากการปิดอ่าวห้ามจับสัตว์น้ำทุกปีต่อเนื่องติดต่อกันกว่า 10 ปี
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (26 ก.ค.) นายอังกูร รัตนพรหม หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลอันดามันกระบี่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่นำเรือตรวจการณ์ออกสำรวจกุ้งหัวเรียว ที่บริเวณปากอ่าวแม่น้ำกระบี่ ม.3 ต.คลองประสงค์ อ.เมืองจ.กระบี่ หลังรับแจ้งว่า มีกุ้งหัวเรียวเข้ามาอาศัยชายฝั่งทะเลจำนวนมาก พบชาวประมงนำเรือหางยาวจำนวนกว่า 200 ลำ กำลังวางอวน ทอดแหจับกุ้งกันอย่างคึกคัก บางคนได้กุ้งหัวเรียวเฉลี่ยลำละ 30-50 กก. โดยกุ้งหัวเรียวที่ชาวประมงจับได้จะมีขนาดประมาณ 60-70 ตัวต่อกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 60 บาท เป็นที่นิยมของผู้บริโภค เนื่องจากเป็นกุ้งทะเลสดๆ มีรสชาติดี เนื้อหวานอร่อย ปลอดภัยจากสารเคมี สามารนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น กุ้งแช่น้ำปลา ผัดหวาน กุ้งชุบแป้งทอด เป็นต้น
นายสมพร ชายกุล อายุ 33 ปี ชาวประมงพื้นบ้านในตำบลคลองประสงค์ กล่าวว่า กุ้งหัวเรียว เริ่มเข้ามาบริเวณปากอ่าวกระบี่เมื่อประมาณ 4 วันที่ผ่านมา ตนและเพื่อนบ้านที่เป็นซึ่งชาวประมงจึงได้เตรียมเรือ และแหออกมาจับกันเพื่อนำไปขาย บางครั้งลูกค้าก็มารอซื้อถึงท่าเรือ ในราคา กก.ละ 60 บาท ซึ่งในปีนี้พบว่า กุ้งหัวเรียว มีจำนวนมากกว่าทุกปี ซึ่งสังเกตได้จากเรือแต่ละลำสามารถจับกุ้งได้ไม่ต่ำกว่า 50 กก.ต่อวัน บางลำได้มากกว่า 100 กก. รายได้เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท นับเป็นโชคดีของชาวประมงกระบี่
ด้าน นายอังกูร กล่าวว่า การรวมกลุ่มทอดแหจับกุ้งหัวเรียว มีแห่งเดียวในประเทศไทยคือ ที่จังหวัดกระบี่ เนื่องจากมีกุ้งมาอาศัยชายฝั่งจำนวนมาก โดยปกติกุ้งหัวเรียวจะเข้ามาในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายนทุกปี แต่ปีนี้มาเร็วกว่าทุกปี และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สาเหตุที่ปีนี้กุ้งหัวเรียวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากที่ผ่านมา มีการประกาศห้ามจับสัตว์น้ำในฤดูปลามีไข่-วางไข่ ในเขต 4 จังหวัดทะเลอันดามัน เนื้อที่กว่า 4,600 ตารางกิโลเมตร ทุกปีเป็นเวลา3 เดือนติดต่อกันมากว่า 10 ปีแล้ว รวมทั้งการขยายเขตห้ามจับสัตว์น้ำชายฝั่งเป็น 3 ไมล์ทะเล ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีโอกาสขยายพันธุ์ และเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น ส่งผลทำให้ชาวประมงพื้นบ้านที่จับสัตว์น้ำชายฝั่งสมารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น โดยไม่ต้องออกไปไกลนอกชายฝั่ง นอกจากนี้ ทางเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านให้ความร่วมมือช่วยสอดส่องดูแลไม่ให้เรือประมงผิดกฎหายเข้ามาลักลอบทำประมงด้วย