xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.หาดใหญ่ชี้โรคเท้าปุกรักษาหายถ้าพบแพทย์ภายใน 1 เดือนหลังคลอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แพทย์ ม.อ.หาดใหญ่ ให้ความรู้เรื่องโรคเท้าปุก เนื่องในวันเท้าปุกโลก ชี้สามารถรักษาให้หายได้ถ้ารีบมาพบแพทย์ภายใน 1 เดือนหลังคลอด

วันนี้ (3 มิ.ย.) ที่บริเวณลานอาคารรัตนชีวรักษ์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมวันเท้าปุกโลก เพื่อเป็นการรณรงค์ และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วทั่วไปเกี่ยวกับโรคเท้าปุก ซึ่งเป็นความผิดรูปของกระดูก และข้อของเท้าที่พบบ่อยในเด็กตั้งแต่แรกเกิด จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด นอกจากนี้ ยังมีการเล่าประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยเท้าปุก และการดูแลจากผู้ป่วย และญาติอีกด้วย

โดยกิจกรรมเริ่มจากการเสวนาเรื่องโรคเท้าปุก และประสบการณ์การรักษาโรคเท้าปุก โดย อ.กันยิกา ชำนิประศาสน์ และ อ.บุญสิน ตั้งตระกูลวนิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคเท้าปุก จากภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธร์ปิดิกส์และกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นผู้ให้การช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยโรคเท้าปุกมาเป็นระยะเวลานานหลายปี

ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 กล่าวว่า โรคเท้าปุกนั้น เป็นความผิดรูปของกระดูก และข้อของเท้าที่พบบ่อยในเด็ก ส่วนสาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด สำหรับโรคดังกล่าวจะส่งผลให้เท้าของผู้ป่วยมีความผิดรูปที่ส้นเท้า และฝ่าเท้ามีลักษณะบิดเข้าด้านในคล้ายไม้ตีกอล์ฟ โดยถ้าปล่อยเอาไว้ หรือไม่รักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เท้าของผู้ป่วยผิดรูป และจะเดินด้วยหลังเท้า ทำให้เกิดตาปลา และมีอาการปวด รวมทั้งมีปัญหาในการเดิน และการใส่รองเท้า

อ.กันยิกา เผยว่า ผู้ป่วยโรคเท้าปุกส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 ตอบสนองต่อการรักษา ด้วยการรักษาแบบอนุรักษนิยม และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด ได้แก่ ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการดัดเท้า และใส่เฝือก หรือความผิดรูปกลับเป็นซ้ำ โดยส่วนใหญ่จะผ่าตัดเมื่ออายุมากกว่า 1 ขวบ ซึ่งผู้ปกครองเด็กโรคเท้าปุกควรรีบพาเด็กมารับการตรวจรักษาโดยเร็ว เพราะการดัดเท้าตั้งแต่แรกเริ่มปรากฏอาการจะทำให้สามารถจัดกระดูกให้เข้าที่ได้ง่าย และมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง โดยเฉพาะถ้าได้รับการรักษาภายใน 1 เดือนหลังคลอด

สำหรับแนวทางการรักษาโรคเท้าปุกในปัจจุบัน แพทย์จะค่อยๆ ดัดเท้า และใส่เฝือกเหนือเข่า โดยจะเปลี่ยนเฝือกทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อยืดเอ็น และจัดกระดูกให้เข้าที่ จำนวน 6-8 ครั้ง ก่อนทำการเจาะเอ็นร้อยหวาย และใส่เฝือกซ้ำอีกครั้ง เมื่อเท้าได้รูปที่ปกติ หรือใกล้เคียงปกติก็จะเปลี่ยนเป็นใส่เครื่องพยุงพลาสติกเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ก่อนที่จะใส่รองเท้าเมื่อเด็กเดินได้แล้ว
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น