ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รองอธิบดี DSI นำคณะลงเกาะนาคาน้อย จ.ภูเก็ต เก็บข้อมูลการออกเอกสารสิทธิก่อนนำเข้าเป็นคดีพิเศษ ยืนยันให้ความเป็นธรรม และตรวจสอบเอกสารสิทธิของทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมดึงเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ร่วมตรวจสอบเอกสารสิทธิ ส.ค.1 ตัวจริงที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ที่ดินถลาง
วันนี้ (2 มิ.ย.) พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมด้วย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ และนางชญาทิตย์ จิตรหลัง ยุติธรรมจังหวัดภูเก็ต นำเจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชนร่วมตรวจสอบพื้นที่เกาะนาคาน้อย ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อเก็บข้อมูลสภาพพื้นที่เกาะนาคาน้อยเพิ่มเติม กรณีมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก เลขที่ 3977 ซึ่งเป็นของบริษัท ภูเขาหกลูก จำกัด ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษในการรับเอาคดีออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. เลขที่3977 ดังกล่าวเข้าเป็นคดีพิเศษ ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้มีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเรือดูแลความเรียบร้อยของทหารเรือ ทัพเรือภาคที่ 3
อย่างไรก็ตาม ในการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ในครั้งนี้ทางคณะได้ใช้เรือขับวนรอบเกาะนาคาน้อย ซึ่งขณะที่กำลังล่องเรือผ่านไปพบเรือหางยาวจำนวน 1 ลำ จอดเทียบชายหาดอยู่ โดยมีคนกำลังขนต้นปาล์มขึ้นไปบนเกาะนาคาน้อย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้าไปสอบถามแต่อย่างใด
พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า การลงตรวจสอบพื้นที่ครั้งนี้ ตนพร้อมด้วยพนักงานสอบสวนลงมาในพื้นที่เพื่อตรวจสอบ และจัดเตรียมข้อมูลขั้นสุดท้ายก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการคดีพิเศษ เพื่อเสนอกรณีนี้ให้เป็นคดีพิเศษ ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ซึ่งคดีนี้เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เนื่องจากมีคู่กรณีที่เข้าเกี่ยวข้อง 2 ฝ่าย ยืนยันว่า ในการทำงานนั้นจะให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย เพราะต่างก็มีพยานหลักฐานมายืนยัน เมื่อมีการยื่นเอกสารมาก็ต้องรับไว้ตรวจสอบทั้ง 2 ฝ่าย และจะต้องตรวจสอบทั้ง 2 ฝ่ายอย่างแน่นอน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มีพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล และพยานหลักฐานมายืนยันเหมือนที่เป็นข่าวอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่จะเป็นเรื่องชี้ขาดในเรื่องนี้ คือ หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลักฐานที่จะนำเข้าสู่คณะกรรมการคดีพิเศษ คือ เรื่องของการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ตามปี พ.ศ.ที่มีการอ้างว่าเข้าทำประโยชน์ต่อเนื่อง ในส่วนนี้จากการดูพยานหลักฐานที่ทางเจ้าหน้าที่มีอยู่ในเบื้องต้น พบว่า ที่ดินแปลงนี้น่าจะมีปัญหา เนื่องจากอ้างว่ามีการทำประโยชน์ในที่ดิน แต่จากการอ่านแปลภาพถ่ายพบว่าไม่น่าจะมีการทำประโยชน์ ซึ่งจากมองทางด้านกายภาพเห็นมีลักษณะเป็นป่า และเขา ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ส่วนการเข้าทำประโยชน์ในแปลงที่ดินซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบนั้นก็ได้มีการประสานไปทางฝ่ายปกครองแล้วว่า ขอให้แจ้งทางผู้ครอบครองให้ระงับการก่อสร้างใดๆ ไว้ก่อน ส่วนทางผู้ครอบครองจะดำเนินการอะไรหรือไม่อย่างไรก็ต้องพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่
พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับความสำเร็จในการนำคดีนี้เข้าเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากมีการบูรณาการความร่วมมือด้วยกันในการทำงานจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะทางเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอถลาง ที่ส่งมอบเอกสารหลักฐาน ส.ค.1 ตัวจริงให้แก่ทางพนักงานสอบสวน ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญมาก ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า มีร่องรอยบางอย่าง แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการประสาน และบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบเอกสารต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาคดีนี้ก็จะทำรูปแบบเดียวกับกรณีของการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ และการลงพื้นที่ในวันนี้ก็พบหลักฐานบางอย่างซึ่งคิดว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่จะนำมาใช้ในการประกอบพิจารณา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้บอกว่าอะไรผิดหรือถูก เพียงจะเอาไปประกอบการพิจารณาเท่านั้น ซึ่งต้องบอกว่า การนำหลักฐานไปนำเสนอต่อคณะกรรมการพิเศษ ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งก่อนนำเสนอต้องมีการกลั่นกรองแล้วระดับหนึ่งว่าหลักฐานที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ เพราะหากหลักฐานไม่เพียงพอทางคณะกรรมการฯ ก็จะไม่พิจารณา จึงต้องมีกระบวนการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยเร็วที่ชัดเจน และให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
ส่วนกรณีที่มีการยื่นเอกสารเพิ่มเติม โดยเฉพาะการนำภาพถ่ายทางอากาศมายื่น รวมทั้งกรณีการอ้างว่ามีการทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2497 ก็จะต้องมีการทำประโยชน์มาตั้งแต่อ้าง ซึ่งสามารถดูได้จากภาพถ่ายทางอากาศ กรณีที่มีการอ้างภาพถ่ายทางอากาศปี 2510 ก็จะตรวจสอบจากภาพถ่ายในปีเดียวกัน หรือถ้ามีหลักฐานอะไรมากกว่านี้ก็พร้อมที่จะตรวจสอบ ส่วนการตรวจสอบเมื่อมีการร้องเรียนจากทั้ง 2 ฝ่าย ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการการตรวจสอบทั้ง 2 ฝ่าย จะไม่มีการเลือกปฏิบัติอย่างแน่นอน
ทางด้าน พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นของที่ดินที่มีข้อพิพาททั้ง 2 แปลงนั้น กรณีของครอบครัวหิรัญพฤกษ์ นั้นพบว่า มีการออกเอกสารในปี 2518 ซึ่งขณะนี้กฎหมายยังเปิดช่องให้สามารถใช้การทำประโยชน์ในที่ดินก่อนปี 2497 โดยไม่มีหลักฐานเดิมสามารถออกเอกสารสิทธิได้ คงต้องไปดูว่า มีส่วนที่เกินไปหรือไม่อย่างไร แต่ทราบว่าทางนายอำเภอสมัยนั้นได้ตัดพื้นที่บนเขาออกไปแล้ว ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไป แต่ส่วนของพื้นที่แปลงเกิดเหตุมีความชัดเจนด้านพยานหลักฐานทั้งทางด้านกายภาพที่เห็นส่วนหนึ่ง และ ส.ค.1 บิน ซึ่งกรมที่ดินได้ตรวจสอบแล้วว่าแปลงจริงเป็น น.ส.3 ก. รวมทั้งได้มีการตั้งกรรมการตามมาตรา 61 ซึ่งได้มีการเสนอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าวแล้ว จึงมีความชัดเจนพอสมควรในการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป