ศูนย์ข่าวภาคใต้ - กรีนพีซ เรียกร้องบริษัทไทยยูเนี่ยน และอุตสาหกรรมประมงที่เข้าร่วมงานประชุมและนิทรรศการการค้าทูน่าโลก ครั้งที่ 14 (the 14th Infofish World Tuna Trade and Conference) ให้เร่ง และขจัดการประมงที่ผิดกฎหมายและทำลายล้าง บริษัทไทยยูเนี่ยน ผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลกมีส่วนพัวพันต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นเป้าหมายของการประท้วงระดับโลกในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา [1]
“ผู้บริโภคทั่วโลกสร้างแรงกดดันต่อไทยยูเนี่ยน ให้ลงมือทำตามสิ่งที่ได้พูดไว้ เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในการปฏิบัติของไทยยูเนี่ยน มิใช่เพียงการประกาศนโยบายอย่างคลุมเครือบนเว็บไซต์เท่านั้น” เกรแฮม ฟรอป หัวหน้าโครงการรณรงค์ด้านตลาดอาหารทะเล กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา กล่าว
“ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ผู้คนในสหรัฐอเมริกา แคนาดา อิตาลี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ได้นำผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องของไทยยูเนี่ยนออกจากชั้นวางขายสินค้าในซูเปอร์มาร์เกต ในวันนี้ เราจัดกิจกรรมรณรงค์ที่กรุงเทพฯ เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงความล้มเหลวของอุตสาหกรรมปลาทูน่าทั่วโลก”
งานประชุมและนิทรรศการการค้าทูน่าโลก ครั้งที่ 14 ดังกล่าวจัดขึ้นที่ประเทศไทย ซึ่งกำลังเผชิญต่อวิกฤตประมง หลังจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป มีคำเตือนเรื่องการขาดมาตรการที่เพียงพอในการต่อสู้การประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและขาดการควบคุม (IUU fishing)
กรีนพีซ เรียกร้องไทยยูเนี่ยนให้กำหนดกรอบเวลา เป้าหมาย และรายละเอียดขั้นตอนที่ชัดเจนของแผนปฏิบัติงานที่ไทยยูเนี่ยนจะใช้ในการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานของตนเอง และหยุดการทำประมงเกินขนาด การทำประมงแบบทำลายล้าง เช่น การล่าฉลามเพื่อเอาครีบ การทำประมงแบบผิดกฎหมาย ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องต่อการบังคับใช้แรงงาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ไทยยูเนี่ยน ต้องขจัดปัญหาการทำประมงแบบทำลายล้าง และให้ความสำคัญด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสร้างมาตรฐานด้านแรงงานที่ครอบคลุมถึงแรงงานบนเรือประมง เราจะไม่หยุดงานรณรงค์จนกว่าไทยยูเนี่ยน จะสามารถแสดงความโปร่งใสของกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล ตั้งแต่กระบวนการจับจนมาถึงจานอาหารของผู้บริโภค” อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
ปลาทูน่าส่วนใหญ่ของไทยยูเนี่ยนยังถูกจับด้วยเครื่องมือเบ็ดราวแบบเดิม (ไม่มีอุปกรณ์ที่ช่วยลดปัญหาการจับสัตว์น้ำพลอยได้) และใช้อวนล้อมจับร่วมกับอุปกรณ์ล่อปลา(FADs) กรีนพีซ และองค์กรอื่นๆ เช่น Monterey Bay Aquarium Seafood Watch Program, SeaChoice, Marine Conservation Society และ The Safina Center ไม่ได้จัดให้วิธีทำประมงดังกล่าวนี้เป็นการทำประมงแบบยั่งยืน [2]
ขณะนี้ เรือเอสเพอรันซา ของกรีนพีซ อยู่ในมหาสมุทรอินเดียเพื่อเก็บเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง รวมทั้งอุปกรณ์ล่อปลาของผู้จัดหาวัตถุดิบของไทยยูเนี่ยนขึ้นมาถอดชิ้นส่วน ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 370,000 คน ได้ร่วมลงชื่อเรียกร้องถึงไทยยูเนี่ยนให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และเป็นผู้นำปกป้องมหาสมุทร
“นี่คือจุดเริ่มต้นหลังจากที่ปัญหามากมายเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย นี่คือห้วงเวลาเพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมการประมงที่มีความหมาย ทั่วโลกกำลังจ้องดูว่า ไทยยูเนี่ยน จะใช้ภาวะความเป็นผู้นำด้านการตลาดเพื่อเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลก และปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร และการสร้างความมั่นใจให้ได้ว่าแรงงานบนเรือประมงได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมหรือไม่ นี่คือการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงที่เราต้องการเห็นจากไทยยูเนี่ยน” อัญชลี กล่าวสรุป
หมายเหตุ [1] หนึ่งในห้าของปลากระป๋องทูน่าทั่วโลกมาจากไทยยูเนี่ยน ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ปลาทูน่ากระป๋องทั่วโลก รวมถึง John West (สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์) Chicken of the Sea (สหราชอาณาจักร), Petit Navire (ฝรั่งเศส), Mareblu (อิตาลี) and Sealect (ไทย) ไทยยูเนี่ยน ยังเป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบให้บริษัทอื่น รวมถึง Mars ที่เป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์แบรนด์ Whiskas
[2] รายงานย่อของกรีนพีซเรื่องการแจ้งเตือนลูกค้าของไทยยูเนี่ยน http://www.greenpeace.or.th/oceans/Greenpeace-Briefing-Paper-on-Thai-Union-Group-PCL-Customer-Alert.pdf
[3] http://tuna.greenpeace.org/en
[4] ข้อเรียกร้องของกรีนพีซต่อผู้ค้าปลีก เจ้าของผลิตภัณฑ์ และบริษัทอุตสาหกรรมปลาทูน่าว่าด้วยความยั่งยืน แรงงาน และความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน http://www.greenpeace.or.th/oceans/Greenpeace-Tuna-Markets-Asks.pdf