คำว่า “พิพิธภัณฑ์ระโนด” ถูกจุดประกายขึ้นจากข้อเขียน หรือบทความของ อเนก นาวิกมูล บุคคลสำคัญคนหนึ่งของ อ.ระโนด จ.สงขลา
ในหนังสือระโนดสังสรรค์ ครั้งที่ 20 เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2530 ซึ่งหลายคนยังคิดว่านั่นคือ ความฝัน เพราะการที่อำเภอที่ห่างไกลอย่าง อ.ระโนดจะมีพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกกล่าวความเป็นมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันให้สังคมทั่วไปได้รับรู้ ไม่ใช่งานที่ง่ายนัก
แต่ในที่สุดพิพิธภัณฑ์ระโนดก็กลายเป็นความจริง เมื่อ ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา ซึ่งเป็น ลูกหลานของชาว อ.ระโนด เคยดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย เมื่อ พ.ศ.2551-2554 ได้ผลักดันให้ อ.ระโนดมีการพัฒนาตามแผน “ระโนดเมืองมรดกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” โดยได้รับงบประมาณหลายร้อยล้านบาทมาทำโครงการต่างๆ
และหนึ่งในโครงการเหล่านั้นคือ พิพิธภัณฑ์ระโนด ซึ่งใช้งบประมาณสร้าง 113 ล้านบาท ส่วนผู้ที่รับผิดชอบในการดำเนินโครงการคือ เกียรติศักดิ์ ตันธนกุล นายกเทศมนตรีตำบลระโนด โดยได้รับความร่วมมือจากบุคคลสำคัญและประชาชนใน อ.ระโนดอย่างล้นหลาม
ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ระโนดคือ โรงเรียนระโนดวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าแก่ ซึ่งคณะกรรมการมีความเห็นร่วมกันในการรื้ออาคารเรียน และใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย สวนศิลปวัฒนธรรมและสวนบุรพาจารย์ อาคารศูนย์วัฒนธรรมที่เป็นอาคารเอนกประสงค์ สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส หอศิลปวัฒนธรรมความสูง 8 ชั้น และ ลานเอนกประสงค์ พร้อมสาธารณูปโภคในพื้นที่ 14 ไร่
ภายในพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์ศิลปวัฒนธรรมทั้ง 2 อาคาร มีการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ ภาพบุคคลสำคัญที่มีคุณูประการกับการพัฒนา อ.ระโนด และการแสดงถึงวิถีชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยต่างๆ มีการจัดแบ่งเป็นห้องๆ เช่น ระโนดในอดีต ระโนดในปัจจุบัน วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม เมืองแห่งปราชญ์ที่บ่งบอกถึงการศึกษาและศาสนา บุคคลสำคัญ บูรพาจารย์ผู้สร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การรู้รักสามัคคี ซึ่งผู้ที่ได้เข้าไปชม จะรู้ถึงอดีตความเป็นมาของ อ.ระโนด ได้เป็นอย่างดี
จากในอดีตของ อ.ระโนดที่มีการขับกลอนกล่าวกันว่า “ระโนดหม้ายไหร่ มีแต่ไผ่กับโหนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา” มา ณ ปัจจุบันนี้ที่ อ.ระโนดเป็นอำเภอชั้น 1 ของจังหวัด เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนแห่งนากุ้งที่ได้สร้างเศรษฐีใหม่ให้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกันนากุ้งก็ได้สร้างหนี้สินและความเป็นผู้ที่สิ้นเนื้อประดาตัวให้กับคนจำนวนหนึ่งไปด้วย
สิ่งที่น่ายินดีคือ วันนี้ อ.ระโนดได้รับการพัฒนาในทุกด้าน นอกจากด้านที่เป็นเมืองกลักทางการเกษตรแล้ว ก็ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักของผู้คน ไม่ว่าเป็นวัดวาอาราม ตลาดน้ำและศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็น สถานที่บอกเล่าและแหล่งให้เรียนรู้อันสำคัญยิ่ง ภายใต้การบริหารจัดการของเทศบาลตำบลระโนด ที่พร้อมให้การต้อนรับนักเดินทาง หรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการเยี่ยมชน เรียนรู้เรื่องราวของ อ.ระโนด จากพิพิธภัณฑ์ที่มากกว่าความเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
“ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและสวนบูรพาจารย์ในพิพิธภัณฑ์ระโนด นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ และเป็นแหล่งที่ผู้คนในระโนดได้ใช้ประโยชน์ในด้านสันทนาการแล้ว ยังเป็นความภาคภูมิใจของชาว อ.ระโนดในการที่ได้เล่าเรื่องราวแผ่นดินถิ่นเกิดให้ทุกท่านที่มาท่องเที่ยว มาเยี่ยมชมจะได้ทราบถึงความเป็นมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเป็นสถานที่ที่เยาวชนคนรุนใหม่ได้เห็นถึงความสำคัญของบุคคลต่างๆ ที่มีส่วนในการสร้างอำเภอระโนด จนมีความรุ่งเรืองอย่างที่เห็น ณ ปัจจุบัน” เกียรติศักดิ์ ตันธนากุล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลระโนด บอกเล่าอย่างภาคภูมิ
--------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์