xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ตร.มือปราบน้ำมันเถื่อนใต้วอนสื่อส่งสารย้ำ “บิ๊กตู่” ช่วยให้ได้เงินรางวัลนำจับตามคำสั่งศาลฎีกาก่อนแก่ตายได้ไหม?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการร้องเรียน
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อดีต “รอง ผกก.สภ.สตูล” มือปราบอิทธิพลน้ำมันเถื่อน เดินสายร้องสื่ออีกระลอก วาดหวังส่งสารไปย้ำเตือน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กรณีถูกเบี้ยวเงินรางวัลจากการจับกุมนายทุนใหญ่ และยึดของกลางไปขายทอดตลาดได้มากมาย วอนเกษียณมานานแล้ว อยากเห็นความยุติธรรมที่แท้จริงก่อนตาย  
 
วันนี้ (27 เม.ย.) พ.ต.ท.ยงยศ เทียมประชา อดีตรอง ผกก.สภ.สุคิริน จ.นราธิวาส ได้เดินสายร้องเรียนของความเป็นธรรมต่อสื่อมวลชน เพื่อสื่อสารข้อมูลไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีอิทธิพลผู้ค้ามันเถื่อนใน จ.สตูล และเจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฎีกาที่พิพากษาให้ตนเองเป็นผู้ชนะคดี และให้ขายของกลางในคดีเพื่อจ่ายรางวัลนำจับให้แก่สายลับ และพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับกุม
 
พ.ต.ท.ยงยศ ได้เปิดเผยว่า คดีการจับน้ำมันเถื่อนของผู้มีอิทธิพลใน จ.สตูล รายนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2525 ซึ่งขณะนั้นตนมีตำแหน่งสารวัตร ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ได้รับคำสั่งจาก พล.ต.ต.พิชัย พิศาลสุพงษ์ ผช.ผบช.ภ.4 ในขณะนั้น ให้ทำการจับกุมการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนของนายทุนรายใหญ่ในพื้นที่
 
“ผมเองพร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมน้ำมันเถื่อนได้ 37,800 ลิตร จากเรือเดินทะเล 2 ลำ ชื่อเรือคือ เรือฮะเฮง 1 และเรือลักษมี พร้อมรถบรรทุก 6 ล้อ 1 คัน และเครื่องดูดน้ำมัน 1 เครื่อง โดยในระหว่างดำเนินคดีได้มอบของกลางทั้งหมดให้ด่านศุลกากรสตูลเป็นผู้เก็บรักษา”
 
พ.ต.ท.ยงยศ กล่าวว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ผู้เป็นนายทุนถือเป็นผู้มีอิทธิพล จึงได้มีการต่อสู้คดีและมีการฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่ พล.ต.ต.พิชัย และทีมจับกุมตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ จนถึงศาลฎีกา และสุดท้ายมีคำสั่งศาลฎีกาที่ 8857.8858/2542 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 เจ้าของเรือ ส่วนน้ำมันโซลาร์ และของกลางคือ เรือบรรทุกน้ำมันให้ริบเป็นของแผ่นดิน
 
เอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการร้องเรียน
 
“อีกทั้งยังมีการระบุให้จ่ายสินบนแก่สายลับผู้นำจับกุมร้อยละ 30 และให้จ่ายรางวัลให้พนักงานผู้จับกุมร้อยละ 25 จากราคาของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบ ซึ่งของกลางที่ริบตามคำพิพากษาของศาลฎีกามี 5 รายการ คือ เรือเดินสมุทรบรรทุกน้ำมันของกลางชื่อ เรือฮะเฮง 1, เรือเดินสมุทรบรรทุกน้ำมันของกลางชื่อ ลักษมี, รถบรรทุกน้ำมันของกลางยี่ห้ออีซูซุ ทะเบียน 0201 สตูล 1 คัน, น้ำมันของกลาง 37,800 ลิตร และเครื่องดูดของเหลว (ไดว่า) 1 ชุด” พ.ต.ท.ยงยศ กล่าว และเสริมว่า
 
ภายหลังมีคำพิพากษา ด่านศุลกากรสตูล ได้จำหน่ายน้ำมันของกลางเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2543 ในราคาลิตรละ 8.73 บาท ทั้งที่ราคาจริงในขณะนั้นลิตรละ 12.62 บาท ส่วนของกลางอื่นๆ อีก 4 รายการผู้เก็บรักษาได้นำไปดำเนินการตามคำพิพากษา แต่กลับไม่มีการนำเงินค่าขายของกลางจ่ายสินบน หรือให้รางวัลแก่สายลับ และเจ้าพนักงานผู้จับกุมตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้ทำความผิด พ.ศ.2489 มาตร 3 ได้บัญญัติไว้ว่า ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่น ซึ่งมีข้อความขัดแย้งหรือแย้งต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้
 
พ.ต.ท.ยงยศ กล่าวด้วยว่า จนถึงขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องยังไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลฎีกาแต่อย่างใด ซึ่งการปฏิบัติการดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย โดยตามประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติไว้ในมาตรา 203 ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งพิพากษาของศาล ป้องกันหรือขัดขวางมิให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น มีความผิดตามมาตรา 203 โดยมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
 
ตนเองได้ทำการยื่นเรื่องร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปแล้วหลายรอบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรปฏิบัติตามคำสั่งศาลฎีกา และได้ร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อเครือผู้จัดการถึง 2 ครั้ง ซึ่งหลังจากการร้องเรียกมีหน่วยงานต่างๆ เรียกเข้าพบเพื่อขอเอกสาร และรายละเอียดเพิ่มเติม แต่สุดท้ายเรื่องก็ยังคงอืดอาดยืดยาดเหมือนเดิม
 
“เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ผมได้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไปด้วยแล้ว ในฐานะที่ผมเองเป็นผู้จับกุมในครั้งนั้น แต่ยังไม่ได้รับส่วนที่ควรจะได้ ตอนนี้เกษียณมานาน และอายุมากแล้ว อยากเห็นความยุติธรรมก่อนตายได้ไหม ซึ่งผมได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยขอใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และขอพึ่งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันอีกครั้ง ในการร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องด้วย” พ.ต.ท.ยงยศ กล่าวตบท้าย
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น