โดย...ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามัน จากถ่านหิน
อาจจะไม่ผิดความคาดหมายมากนักที่กรรมการ 3 ฝ่ายเพื่อการแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี จะถูกนำมาเล่นเกมเพื่อเปลี่ยนพลิกไปสู่การผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยเบี่ยงเบนจากเจตนารมณ์เดิมของการเรียกร้องรวมถึงไม่เป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี เหตุผลที่กรรมการ 3 ฝ่ายกำลังถูกช่วงชิงความหมาย และสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายที่อยากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น เนื่องจากกรรมการ 3 ฝ่าย เกิดจากการเรียกร้องอดข้าวประท้วงเป็นเวลา 14 วัน ของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจึงกลายเป็นที่รับรู้ของสาธารณะในระดับหนึ่ง ผลสรุปของกรรมการ 3 ฝ่าย จึงมีความหมายยิ่งต่อการตัดสินสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณะ
กลเกมจึงเริ่มขึ้นสำหรับการที่จะทำให้ผลสรุปของกรรมการ 3 ฝ่าย สร้างความชอบธรรมให้แก่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เริ่มจากบรรยากาศการประชุมซึ่งที่ประกอบด้วย ฝ่าย สนช. ฝ่ายกระทรวงพลังงาน ฝ่ายประชาชน เป็น 3 ฝ่ายที่มีคำถามว่าสามฝ่ายจริงหรือไม่ โดยเฉพาะฝ่าย สนช.ซึ่งจะแสดงให้เห็นในตอนท้ายว่า ได้วางตัวอยู่ข้างฝ่ายไหนกันแน่ บรรยากาศที่ไม่อาจใช้เหตุผลทางวิชาการมาถกเถียงเพื่อให้ตกผลึก และกลายเป็นความเห็นร่วม ทัศนคติที่อยู่ในใจจึงเข้ามาแทนที่โดยเฉพาะคนที่ทำหน้าที่เป็นประธานนั้นสำคัญอย่างยิ่ง จากบรรยากาศในห้องประชุมสู่พื้นที่สื่อ พื้นที่ชุมชน และพื้นที่นโยบาย ล้วนสอดรับไปในแนวเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้
สำหรับในพื้นที่สื่อนั้นมีการประกาศของ กฟผ.ว่า กรรมการ 3 ฝ่าย จะมีการสรุปภายใน 8 เดือน รวมถึงมีการโฆษณาท่วงทำนองเดียวกันตามสถานีวิทยุในจังหวัดกระบี่ ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด นัยจำนวนเดือนดังกล่าวยังมีความหมายแอบแฝงของความรีบเร่งเพื่อผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้ภายในรัฐบาลนี้ ทั้งนี้ ในประเด็นระยะเวลานั้นไม่สามารถกำหนดเป็นอย่างอื่นได้นอกจาก 3 ปี ตามข้อเรียกร้องของประชาชนที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้น และขอทำความเข้าใจว่า 3 ปีที่ว่านั้นหมายถึงแผนปฏิบัติการที่ต้องลงมือทำการผลิตไฟฟ้าจากโรงงานปาล์มที่รัฐต้องสนับสนุนสายส่ง หากทำไม่ได้จึงค่อยมาพิจารณาเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ การสื่อสารที่นอกเหนือไปจากนี้ล้วนเป็นเจตนาที่เบี่ยงเบน
พื้นที่ชุมชนมีการเคลื่อนไหวของนายทหารระดับพลเอกซึ่งเป็นกรรมการ 3 ฝ่าย ใน 2 พื้นที่หลักคือ ปกาศัย และคลองรั้ว เพื่อสยบการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้คัดค้านด้วยวิธีการทั้งขู่ทั้งปลอบ ล่าสุดนั้น นายทหารคนดังกล่าวบอกแก่ชาวบ้านที่คลองรั้วว่า “ถ้าพูดแบบนี้ก็จะชวนเข้าค่ายทหาร” ก่อนหน้านี้ ก็พยายามที่จะเข้ามาคุยกับแกนนำทั้งที่คลองรั้ว และปกาศัย ด้วยการใช้จิตวิทยาขั้นสูง ดูผิวเผินดูเหมือนหวังดี แต่โดยนัยแล้วคือ การเอาประชาชนผู้คัดค้านไปเข้ากรอบ
ล่าสุด นายทหารคนเดียวกันนี้ได้เสนอในกรรมการ 3 ฝ่าย เพื่อเสนอให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการศึกษาเพื่อเห็นว่าช่องทางการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนไม่มี โดยที่นายทหารคนนี้ไม่เคยเข้าใจว่า ประชาชนเข้าคัดค้านเพราะมันคือ การทำลายชีวิตคน และสิ่งแวดล้อมพวกเขาไม่ได้ต้องการการเยียวยา และบรรเทาทุกข์ จึงคาดเดาได้ว่ากรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกระบวนการคลี่คลายการคัดค้านของประชาชน?
ทำไมทหารต้องทุ่มเทถึงขนาดนี้เริ่มเป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง แต่เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือมาตรการทางกฎหมายรัฐบาลนี้ไม่เกรงกลัวเพราะสามารถทำลายกฎหมายได้ทุกอย่าง แต่สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคมากคือ การคัดค้านของประชาชน ฉะนั้น ถนนทุกสายล้วนมุ่งสู่การสลายกระแสการคัดค้านของประชาชน ยังไม่นับรวมถึงการเข้ามาเสนออุทยานพลังงานของฝ่ายทหารที่ยังเป็นข้อสงสัยว่า กำลังเหยียบเรืออยู่กี่แคม ถ้านายทหารคนดังกล่าวนี้อ่านหนังสือออกก็ขอให้กลับไปอ่านข้อเรียกร้องของประชาชนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินอีกครั้ง การวางแผนเพื่อสลายมวลชนเป็นแนวทางทั้งการสลายผู้คัดค้าน และการสงเคราะห์ผู้ที่อยู่ในเครือข่ายที่กลาง และฝ่ายสนับสนุนอยู่แล้ว และเมื่อถึงระดับหนึ่งมาตรการขั้นเด็ดขาดจะถูกผลักดันออกมาเพื่อตอกเสาเข็ม
แผนการของทุนกับรัฐจึงผนวกกันอย่างดีด้วย 1.การออกมาตรา 44 ฉบับที่ 4 ยกเว้นผังเมือง ฉบับที่ 9 หาผู้รับเหมาไม่ต้องรอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 13 จัดการผู้มีอิทธิพล เชื่อสิว่าฉบับนี้เอาไว้จัดการต่อแกนนำที่คัดค้านโครงการของนายทุน ยังไม่รวมถึงประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่อนุญาตให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ 2.มาตรการสนับสนุนทุนด้วยการที่ ก.ล.ต.อนุญาตให้มีการระดมทุนของบริษัทถ่านหิน จำนวน 6 พันล้าน 3.มาตรการสลายกลุ่มคัดค้าน ด้วยการใช้นายทหารลงทำพื้นที่ และ กฟผ.ยังสงเคราะห์ชาวบ้านซื้อใจกันไม่เลิกรา
ทั้งหมดนี้เป็นความสมานสามัคคีช่วยกันอุ้มทุนถ่านหินที่ทั้งโลกปฏิเสธให้มีชีวิตอยู่ต่อไป แม้ว่าจะแลกมาด้วยหายนะด้านสิ่งแวดล้อม และชีวิตคนไทยก็ตาม