xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเอกสารลับ สพฐ.ใช้เด็กเป็นเครื่องมือชี้นำให้ตอบข้อสอบถ่านหินสะอาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เปิดเอกสารลับข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กมัธยม มีการตั้งคำถามเชิงชี้นำเรื่องถ่านหินสะอาด ด้านผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินตั้งข้อสงสัยถึงเจตนาของ สพฐ.มีนัยแอบแฝงหรือไม่ และมีเป้าหมายเพื่อการเป็นผู้รับใช้ กฟผ.ซึ่งต้องการผลักดันให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

วันนี้ (11 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับการเปิดเผยจากผู้บริหาร สพฐ.คนหนึ่งว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำการออกข้อสอบเพื่อส่งให้โรงเรียนทั่วประเทศใช้เป็นข้อสอบสำหรับจัดสอบปลายภาค โดย สพฐ.อ้างว่า ข้อสอบของโรงเรียนทั่วประเทศไม่มีคุณภาพ สพฐ.จึงออกสอบเอง 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อส่งให้โรงเรียนใช้สำหรับจัดสอบปลายภาค แต่ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากผู้ปกครองนักเรียน และฝ่ายที่ติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากคือ ข้อสอบวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ฉบับที่ 1 หน้าที่ 30 ข้อที่ 30 เรื่องถ่านหินสะอาด

โดยข้อสอบกำหนดให้นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 อ่านข้อมูลที่ สพฐ.ตั้งโจทย์ว่า ถ่านหินสะอาด แล้วให้นักเรียนตอบข้อสอบว่า เหตุใดการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมาผลิตกระแสไฟฟ้าจึงสามารถลดปริมาณเถ้าของถ่านหิน และกำมะถันลงได้ ซึ่งเป็นข้อสอบที่มีคำถามถึงความถูกต้องและความเที่ยงตรงของข้อมูลเป็นอย่างมาก เพราะถ่านหินไม่มีงานวิชาการจากสถานบันทางวิชาการไหนยืนยันว่าสะอาด

ด้าน นายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้ตั้งคำถามถึงเจตนารมณ์ของ กฟผ. และกระทรวงศึกษาธิการในออกข้อสอบที่ให้เด็กทั้งประเทศทำ หลังจากที่มีข้อสอบซึ่ง สพฐ.นำมาใช้ให้เด็กทั่วประเทศทำข้อสอบในวิชาวิทยาศาสร์พื้นฐานชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในข้อสอบลำดับที่ 30 ซึ่งเป็นข้อสอบที่มีคำอธิบายเกี่ยวกับถ่านหิน หลังจากที่ข้อสอบได้ปรากฏขึ้นสร้างคำถามหลายประการต่อสาธารณะ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเจตนาของ สพฐ.มีนัยแอบแฝงหรือไม่ และมีเป้าหมายเพื่อการเป็นผู้รับใช้ กฟผ.ซึ่งต้องการผลักดันให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นหลายแห่งในประเทศไทย สำหรับเนื้อหานั้นมีการเขียนที่ส่อนัยไปในทางการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งจะก่อให้เกิดการเข้าใจผิดต่อเยาชนของประเทศ

นายประสิทธิชัย กล่าวอีกว่า หากจะยกตัวอย่างข้อความในข้อสอบจะพบความไม่ครบถ้วนของข้อมูลที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดดังนี้ 1.การทำให้ถ่านหินมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด คำนี้เป็นการชี้นำว่า สามารถทำให้ถ่านหินมีผลกระทบน้อยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในข้อเท็จจริงนั้นมีงานวิจัยในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกบ่งชี้ถึงอันตรายอย่างยิ่งยวด งานวิจัยของคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาล (IPCC) ที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติบ่งบอกถึงอันตรายของสภาวะโลกร้อนซึ่งมีถ่านหินเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด

2.มีข้อความบอกว่า สามารถดักจับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ร้อยละ 90 แต่ไม่ได้เอ่ยถึงสารพิษอื่นๆที่มีเกือบ 80 ชนิด ทำให้นักเรียนที่อ่านข้อสอบเข้าใจได้ว่ามีแค่สารพิษนี้เท่านั้น ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจผิดต่อเยาวชนอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น ข้อสอบนี้จึงมีนัยที่สำคัญดังนี้ 1.ข้อมูลในข้อสอบหลอกลวง โกหก ไร้จริยธรรม เพราะทั้งโลกมีบทสรุปเกี่ยวกับถ่านหินไปแล้ว 2.ข้อสอบนี้เอนเอียงไปทางการให้หลงเชื่อเพื่อลดกระแสต้านถ่านหิน ถือว่า สพฐ. เอนเอียง และใช้ข้อสอบเป็นเครื่องมือชักจูงเด็ก 3.แสดงให้เห็นว่า กฟผ. ใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ถ่านหินเกิด ถือเป็นเรื่องชั่วร้ายเพราะใช้เด็กเป็นเครื่องมือ

ด้าน นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ผมได้อ่านข้อสอบกรณีถ่านหินของ สพฐ.แล้ว จะขอให้ความเห็นอย่างนี้ครับ ข้อสอบวิทยาศาสตร์ทำนองนี้สะท้อนให้เห็นถึงระเบียบวิธี และการเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทยที่ล้าหลัง มุ่งการลดทอนให้เห็นเป็นส่วนๆ ทั้งผู้สอน และผู้เรียนไม่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีขึ้นต่อกันและกัน ในกรณีของถ่านหินสะอาดก็เช่นเดียวกัน มีการตั้งคำถามที่ชี้นำ ตัด และลดทอนความเชื่อมโยงทั้งหมดออกจากกัน แท้ที่จริง ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าถ่านหินสะอาด(Clean Coal) มันเป็นคำประดิษฐ์ของอุตสาหกรรมถ่านหิน

นายธารา กล่าวอีกว่า ในทางปฏิบัตินั้นเป็นการอ้างถึงเทคโนโลยีที่ใช้ลดมลพิษ แต่ก็ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใดที่สะอาดจริงๆ เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดคือ วิธีการปล่อยทิ้งมลพิษจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งซึ่งในที่สุดก็ยังคงปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมอยู่นั่นเอง เมื่อใดก็ตามที่มีการเผาไหม้ถ่านหิน ก็จะมีการปล่อยสารปนเปื้อนออกมา ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเถ้าลอย ก๊าซที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ น้ำเสีย หรือกากของเสียที่ถูกทิ้งไว้หลังการเผาไหม้

ท้ายที่สุดล้วนแต่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะใช้เวลาวิจัยนับทศวรรษ และเสียงบประมาณการลงทุนทำการทดลองในสหรัฐอเมริกาไปถึง 5,200 ล้านเหรียญ แต่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดที่สามารถทำให้ถ่านหินสะอาดได้ รัฐบาลออสเตรเลีย ใช้งบประมาณ 50,000 เหรียญออสเตรเลียต่อปี ในการส่งเสริมให้มีการส่งออกถ่านหินจากออสเตรเลียให้แก่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมีราคาแพง และไม่ได้แก้ปัญหาจากการทำเหมืองถ่านหิน หรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบรรเทาเบาบางลงได้เลย
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น