โดย...บุญเสริม แก้วพรหม สำนักกวีน้อยเมืองนคร
เมื่อ 13 เมษายน 2559 ได้รับการแจ้งประสานจาก ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้ง นายกฯ อภินันท์ เชาวลิต นายก อบต.ท่าศาลา และผู้ใหญ่สุรินทร์ สุกสาน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.ท่าศาลา ว่า มีการขุดพบโบราณวัตถุหลายรายการในโบราณสถานวัดนางตรา อำเภอท่าศาลา...
จึงนัดหมายกับ อ.จำรัส เพชรทับ ไปดูสภาพของโบราณวัตถุดังกล่าว ซึ่งมีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร นายอำเภอท่าศาลา และเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมปรึกษาหารือกับเจ้าอาวาสด้วยแล้ว..
โบราณวัตถุที่พบจากการขุดตอต้นมะม่วงเพื่อปรับพื้นที่ ด้านทิศเหนือของเจดีย์นางชี (ซึ่งเป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้แล้ว) มีจำนวน 5 รายการด้วยกัน คือ
1.พระพิมพ์ภาพพระพุทธเจ้าประทับยืน (พระร่วงรางปืน) เนื้อโลหะ ขนาดกว้าง 2 ซม. สูง 8 ซม. (อยู่ในไห) จำนวน 78 องค์
2.ศิวลึงค์ศิลาแบบสมัยดั้งเดิม มีส่วนศิวลึงค์ และโยนีติดกัน ส่วนของฐานโยนีมีรางน้ำสมบูรณ์ ฐานด้านนอกของโยนีจำหลักลายประจำยามก้ามปูทุกด้าน องค์ศิวลึงค์ปรากฏเส้นพราหมณ์สูตร และปารวสูตรชัดเจน ขนาดฐานกว้าง 37 ซม. ฐานสูง 11 ซม. ฐานยาว 58 ซม. ความสูงของศิวลึงค์ 13 ซม. จำนวน 1 องค์
3.ไหเคลือบสีน้ำตาลเป็นเส้นเยิ้มในแนวตั้ง มีคราบปูนติดอยู่บนไหล่ ชนิดขนาดสูง 65 ซม. ปากกว้าง 21 ซม. ก้นกว้าง 22 ซม. จำนวน 1 ใบ
4.ภาชนะสำริดลักษณะก้นกลม สภาพชำรุด กว้าง 15 ซม. สูง 6 ซม. จำนวน 1 ใบ 5. เต้าปูนสำริด สภาพชำรุด จำนวน 1 อัน
โบราณวัตถุทั้ง 5 รายการข้างต้น ถือว่าเป็นการค้นพบร่องรอยทางโบราณคดีที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง...โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไหเคลือบสีน้ำตาล” (รายการที่ 3) ผู้รู้ทางโบราณคดีสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เป็นเครื่องเคลือบดินเผาจากพื้นที่อีสานใต้ ช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 (ประมาณ 800 ปีที่แล้ว)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศิวลึงค์แบบสมัยดั้งเดิม” (รายการที่ 2) ผู้รู้ทางโบราณคดีสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เป็นศิวลึงค์ยุคต้น อายุประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-12 (ประมาณ 1,300-1,500 ปี) เป็นศิวลึงค์ที่มีความสมบูรณ์ และมีลวดลายสวยงามชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยพบมา (อาจารย์จำรัส เพชรทับ บอกว่า เป็นองค์ที่ 2 ที่พบในภาคใต้ ก่อนหน้านี้ เคยพบในพื้นที่อำเภอสิชล มาแล้ว 1 องค์ แต่มีขนาดเล็กกว่า)
ขณะนี้โบราณวัตถุทั้ง 5 รายการดังกล่าว ทางเจ้าอาวาสได้มอบให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานนครศรีธรรมราชแล้ว เพื่อรอการพิสูจน์ทางโบราณคดีที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง...
ในเบื้องต้น ได้หารือร่วมกันทั้งทางเจ้าอาวาส คณะสงฆ์ นายอำเภอท่าศาลา สภาวัฒนธรรมอำเภอท่าศาลา ผู้ใหญ่บ้าน ชุมชน และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ว่า หลังจากนี้ เรา (อำเภอท่าศาลา) จะกำหนดจัดพิธีสมโภชโบราณวัตถุสำคัญ เพื่อเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องสู่งานเฉลิมฉลอง 120 ปีท่าศาลา อีกครั้งหนึ่ง
เพราะนี่คือการเปิดร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ท่าศาลาที่สำคัญอย่างยิ่งอีกหน้าหนึ่งแล้ว...