xs
xsm
sm
md
lg

ประชาชน-นักท่องเที่ยวยังแห่ถ่ายรูป “มาร์ดี” เทศบาลแถลงพรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ประชาชน และนักท่องเที่ยวแห่ถ่ายภาพพ่นสีรูปเด็กน้อยมาร์ดี บนผนังตึกธนาคารชาร์เตอร์ดเก็บไว้เป็นที่ระลึก ก่อนถูกลบทิ้ง ส่วนเทศบาลนครภูเก็ต เตรียมแถลงข่าวถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้

หลังจากเมื่อวานนี้ (10 เม.ย.) โลกออนไลน์มีการแชร์ภาพ และแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับภาพพ่นสีรูปเด็กน้อยสามตาหน้าบึ้ง หรือมาร์ดี 2 ตัว โดยตัวหนึ่งหิ้วปิ่นโตเสี่ยหนา ส่วนอีกตัวติดปิ่นตั้ง ซึ่งเป็นเข็มกลัดที่หน้าอก โดยภาพดังกล่าวเป็นฝีมือการพ่นสีของศิลปิน ชื่อ นายพัชรพล แตงรื่น ศิลปินกราฟิกตี (หรือภาพพ่นสี) พ่นลงบนผนังตึกธนาคารชาร์เตอร์ด จังหวัดภูเก็ต

ทำให้ตั้งแต่เมื่อวานจนถึงวันนี้ (11 เม.ย.) มีประชาชนภูเก็ต และนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนหนึ่งแห่กันไปถ่ายภาพดังกล่าวเพื่อเป็นที่ระลึก หลังมีกระแสออกมาว่า ภายในวันสองวันนี้อาจจะมีการลบภาพทั้งหมดออกจากฝาผนังตึก เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างมาก ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ภาพดังกล่าวสวยงาม แต่ไม่น่าจะมาอยู่ที่ตึกเก่าซึ่งเป็นตึกที่อนุรักษ์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ส่วนกลุ่มที่เห็นด้วยมองว่า เป็นสิ่งที่สวยงาม เป็นเรื่องของศิลปะ และมีการนำป้ายข้อความซึ่งยังไม่ทราบว่าใครมาวางไว้

โดยมีใจความว่า “ถนนเส้นเมืองเก่า เป็นหลุม เป็นบ่อ สายไฟระโยงระยาง คุณไม่เดือดร้อนกัน? แลนด์มาร์กใหม่ในจังหวัด ส่งเสริม และดึงดูดการท่องเที่ยว คุณบอกรับไม่ได้? มันไม่เหมาะสม ตึกเก่าควรอนุรักษ์ไว้ให้นักท่องเที่ยวมาดู คุณรีโนเวตทำไม บ้านเมืองจะเจริญขึ้นไม่ชอบกัน แปลกไหมคนไทย ไม่ได้อยู่ทีมใคร แต่เกิดที่ภูเก็ต และอยากเห็นบ้านเกิดได้ดี” อย่างไรก็ตาม ทางเทศบาลนครภูเก็ต จะแถลงข่าวถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการร่วมกับทุกฝ่ายในวันพรุ่งนี้ (12 เม.ย.)

ส่วนประเด็นที่ว่า ภาพดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเทศบาลนครภูเก็ตหรือไม่นั้น น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ยอมรับว่า เป็นความจริง โดยมีทั้งหมด 12 หัวข้อ เช่น ภาพเกี่ยวกับวิวาห์บาบ๋า อาหารเช้าภูเก็ต สภากาแฟยามบ่ายเตี่ยมซี้ม พ้อต่อ หรือขนมเต่า ประเพณีกินผัก ไหว้เทวดา และเดินเต่า เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาพหนูน้อยมาร์ดี 2 ตัวที่กำลังเล่นซ่อนหากันบนฝาผนังตึกธนาคารชาร์เตอร์ด ถือเป็นภาพแรกของโครงการนี้ เพื่อต้องการบอกเล่าถึงเรื่องราวการคลอดบุตรแบบภูเก็ต ที่บ้านซึ่งมีลูกชายอายุได้ 1 เดือน จะพากันถือเสี่ยหนา หรือปิ่นโต ที่มีอิ่วปึ่งนำไปแจกจ่ายให้แก่บ้านญาติๆ ส่วนเข็มกลัดปิ่นตั้ง เป็นเข็มกลัดแบบโบราณที่ชาวภูเก็ตใช้ตกแต่งเสื้อผ้าเวลาออกงานต่างๆ น.ส.สมใจ กล่าว

ขณะที่จากการลงพื้นที่สอบถามความเห็นของประชาชนในย่านเมืองเก่าภูเก็ต โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยต่อภาพดังกล่าว และมองว่า ทางผู้จัดทำควรมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในชุมชนก่อนที่มีการลงมือทำเสียก่อน นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบว่า ตึกเก่าแก่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ในลักษณะนี้สามารถทำได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากประชาชนในพื้นที่ แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาบันทึกภาพดังกล่าวอย่างเป็นระยะ

สำหรับตึกอาคารชาร์เตอร์ด แบงก์ ตั้งอยู่บนมุมถนนพังงา ตัดกับถนนภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต ถือเป็นตึกเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปี เป็นธนาคารแห่งแรกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2450 กระทั่งเมือวันที่ 5 เมษายน 2550 เทศบาลนครภูเก็ต ได้รับมอบอาคารดังกล่าวจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชบาบ๋าภูเก็ต ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของภูเก็ตต่อไป

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น