ปัตตานี - รองผู้ว่าฯ ปัตตานี ลงพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี จัดส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ เตรียมพัฒนา “ทุเรียนทรายขาว” เป็นสินค้าคุณภาพระดับพรีเมียม เร่งสำรวจตลาดหาราคาที่เหมาะสม และปริมาณที่ตลาดต้องการ
วันนี้ (4 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ยางราคาตกต่ำทำให้รายได้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยึดเกษตรเชิงเดี่ยวมีเพียงสวนยางพาราได้รับผลกระทบอย่างหนัก รายได้ลดน้อยลง ถึงแม้ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายแทรกแซงด้วยการรับซื้อน้ำยางในราคาที่สูงกว่าตลาด เพื่อลดปัญหายางล้นตลาด แต่กลับทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับผลจากโครงดังกล่าวเพราะมีข้อระเบียบราชการกำกับอยู่
ซึ่งในส่วนเกษตรกรที่มีสวนผสมผสานกับสวนไม้ผลหลัก โดยเฉพาะสวนทุเรียน ทาง จ.ปัตตานี ได้มีนโยบายที่พัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้นเพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น เพราะในห่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการสั่งซื้อผลทุกเรียนจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก แต่เกษตรกรยังไม่สามารถสนองตามความต้องการของตลาดได้เท่าที่ควร เพราะผลทุเรียนในพื้นที่ยังมีคุณภาพเกรดต่ำ จึงทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนขาดโอกาสเพื่อพัฒนาคุณภาพ และส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม
โดยวานนี้ (3 มี.ค.) ที่อาคารอเนกประสงค์ มัสยิดนัจมุดดีน หมู่ที่ 4 ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาทุเรียนให้มีคุณภาพ ตามโครงการส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ โดยมีเกษตรกรกลุ่มผลิตทุเรียนทรายขาว ต.ทรายขาวกว่า 100 คน เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ และสอบถามถึงปัญหาอุปสรรค และความต้องการช่วยเหลือในการทำสวนทุเรียนในปัจจุบัน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไข และให้การช่วยเหลือ
สำหรับทุเรียนทรายขาว จ.ปัตตานี มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ จ.นนทบุรี เมื่อปี 2553 ทำให้ต้นทุเรียนเมืองนนท์ได้รับความเสียหายตายไปเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านสวนทุเรียนเมืองนนท์จำนวนหนึ่งจึงได้เดินทางมาสำรวจทุเรียนที่บ้านทรายขาว จ.ปัตตานี
จนได้พบเจอทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมของเมืองนนท์ คือ ดีแรด รวมทั้งพันธุ์ก้านยาว หมอนทอง ชะนี ลวง กบชายน้ำ กบเล็บเหยี่ยว ฉัตรศรีนาศ อยู่ในสวนผลไม้ของชาวบ้านที่บ้านทรายขาว และบนเทือกเขาสันกาลาคีรี ที่มีแนวเขตติดกัน ประกอบกับมีผู้สูงอายุเล่าว่า ในอดีตเคยมีการนำเอาพันธุ์ทุเรียนจากเมืองนนท์มาปลูกที่ ต.ทรายขาว และพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ทุเรียนแห่งนี้มีรสชาติดีเทียบเคียงใกล้เคียงกับทุเรียนนนท์ คือ เนื้อแห้ง หวาน และเปลือกบาง
นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาล เป็นการปรับปรุงการคุณภาพของทุเรียนทรายขาว ซึ่งมีรสชาติดี มีระยะการออกผลระยะสั้นเพียงเดือนเดียว คือ เดือนสิงหาคม และต้องทานในระยะ 3 วัน หลังจากตัดเท่านั้นจึงจะได้รสชาติที่ดี
การรวมตัวของเกษตรแปลงใหญ่นี้ เป็นการรวมกันของเกษตรกร 120 ราย ใน 4 ตำบลของ อ.โคกโพธิ์ รวมพื้นที่กว่า 360 ไร่ ต้นทุนการผลิต ระบบน้ำ คุณภาพการผลิต และการตลาด นอกจากนี้ จากการหารือของทีมเศรษฐกิจ จ.ปัตตานี ซึ่งต้องการที่จะให้ทุเรียนทรายขาว เป็นสินค้าพรีเมียมที่มีคุณภาพดี ราคาดี ซึ่งอยู่ระหว่างให้ผู้เกี่ยวข้องไปสำรวจตลาดเพื่อหาราคาที่เหมาะสม และปริมาณที่ตลาดต้องการ