ปัตตานี - ชาวบ้านท่าด่าน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี จัดเวทีประชาคมเพื่อทางออกของครอบครัว “ปอเนาะญีฮาดวิทยา” ชี้เห็นพ้องต้องกันพร้อมสานต่อตามเจตนารมณ์ของ “บาบอเฮง” อดีตผู้ก่อตั้งปอเนาะญีฮาดวิทยา ในการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องศาสนา
วันนี้ (19 ก.พ.) ผู้สื่อรายงานบรรยากาศ ที่มัสยิดบ้านท่าด่าน ม.3 ต.ตะโล๊ะกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี หลังจากที่ได้มีลูกหลานของครอบครัว แวมะนอ จำนวน 14 ชีวิต อพยพเข้ามาพักอาศัยเป็นที่พักชั่วคราว ภายหลังจากครอบครัว แวมะนอ ได้ตัดสินใจไม่ดำเนินการอุทธรณ์ในการต่อสู่คดีแพ่งในชั้นศาล และตัดสินใจขนข้าวของออกจากพื้นที่โรงเรียนญีฮาดวิทยา หรือปอเนาะบ้านท่าด่าน เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางกับประชาชนในพื้นที่ที่ทราบข่าว จึงแห่เข้ามาเยี่ยมครอบครอบครัวจากทั่วสารทิศ สร้างความสลด หดหู่ใจกับผู้ที่มาเยือนเพราะไม่สามารถรับสภาพของครอบครัวนี้ได้ ในฐานะที่เป็นครอบครัวของโต๊ะครูหรือบาบอ
จนทำให้ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ได้เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจ และพูดคุยกับครอบครัว หลังจากที่มาพักอาศัยอยู่บริเวณตาดีกา ภายในบริเวณมัสยิดบ้านท่าด่าน และได้พยายามโน้มน้าวเพื่อให้ครอบครัวนี้กลับไปที่บ้านเดิน แต่ครอบครัวได้ปฏิเสธ ไม่หวนกลับไปบ้านเดิมอีกแล้ว ไม่อยากแบกรับมลทินอีกต่อไป หลังจากที่ดินของโรงเรียนญีฮาดวิทยา หรือปอเนาะบ้านท่าด่าน ถูกรัฐกล่าวหาว่าเป็นที่ดินทำผิดใช้เป็นที่ฝึกก่อการร้ายจึงกลายเป็นที่มาของการพิพากษ์
ล่าสุดวานนี้ (18 ก.พ.) ทางชาวบ้านบ้านท่าด่าน (กือแด) ได้รวมตัวกันเพื่อจัดทำเวทีประชาคมเลือกตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ในชุมชน ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกันคือ มัสยิด ตาดีกา ปกครอง บริหาร สตรี และเยาวชน โดยแกนนำกลุ่มละ 2 คน ทั้งหมดเท่ากับ 12 คน ร่วมกับตัวแทนจากเครือข่ายศิษย์เก่าโรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยาและตัวแทนจากเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ
ทั้งนี้ เพื่อรวมเป็นคณะทำงานของ “ศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือครอบครัวโรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยา” ในการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบาบออิบรอฮิม หรือบาบอเฮง อดีตโต๊ะครู และผู้ได้รับอนุญาตก่อตั้งปอเนาะญีฮาดวิทยาต่อไป ที่อยากให้พี่น้องในบ้านท่าด่าน มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของศาสนา ปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดสืบไป
ส่วนบรรยากาศในการจัดเวทีประชาคมในครั้งนี้ ได้มีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมเกือบทั้งหมด ท่ามกลางบรรยากาศร่มเงาของต้นมะพร้าวที่มีเป็นจำนวนมาก นับเป็นอีกพื้นที่หนึ่งของ จ.ปัตตานีที่มีการปลูกต้นมะพร้าวมากที่สุด สร้างเป็นอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้มายาวนาน