xs
xsm
sm
md
lg

หยุดหายนะป่าแม่แจ่ม! ปัญหาและแนวทางแก้ไขเพื่อฟื้นสภาพป่าเขาหัวโล้น/บรรจง นะแส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย..บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

ผมได้รับคำเชิญจากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ โดยนายประยงค์ ดอกลำไย ให้ไปดูผืนป่าที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในระหว่างวันที่ 13-16 ก.พ.ที่ผ่านมา

เพราะเห็นว่าข้าวโพดอาหารสัตว์เชื่อมโยงกับปลาป่นในทะเลไทยที่สมาคมรักษ์ทะเลไทยทำงานอยู่จะต้องผนึกกำลังกันแก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรมในสังคมร่วมกัน
 

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าจนกลายเป็นเขาหัวโล้น คือ 1.สิทธิของชุมชนดั้งเดิมไม่ได้รับการรองรับ เริ่มจากการประกาศเขตป่าสงวน หรือวนอุทยานฉบับต่างๆ ไปทับที่อยู่ของชุมชนแล้วเน้นการพยายามเอาชุมชนออกจากป่า หรือทำให้ชุมชนในเขตป่าเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย

ทั้งๆ ที่ชุมชนในเขตป่าก่อนมีประกาศต่างๆ มีอยู่จำนวนมาก และก็มีหน่วยงานราชการต่างๆ ก็เข้าไปอยู่ ไม่ว่าโรงเรียน สถานีอนามัย สถานีตำรวจ ส่วนใหญ่ก็ล้วนอยู่อย่างไม่ถูกกฎหมายเช่นกัน มีบางหน่วยบอกว่าได้ขออนุญาตในการสร้างอาคารสถานที่ของตัวเองถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหาก็คือ ทำไมไม่อนุญาตให้ชุมชนที่อยู่มาก่อนได้สิทธิในการอยู่อย่าถูกกฎหมายเช่นนั้นบ้าง
 

 
2.เมื่อชุมชนไร้สิทธิ และก็กลายเป็นผู้บุกรุก การดำรงอยู่ของวิถีชุมชนจึงขาดการหนุนเสริมจากภายนอกในการแก้ไขการบุกรุกที่ไร้ขอบเขต และขาดพลังที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการที่จะช่วยกันปกป้อง หรือฟื้นฟูผืนป่าให้สมดุล มีการหักร้างเผาเพิ่มเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากจะฟื้นฟูเช่นปลูกไม้ยืนต้น ไม้ที่ปลูกก็ตกเป็นของรัฐ ไม่ใช่ของคนปลูก หรือของชุมชน

3.ปัญหาของกฎหมาย หรือประกาศต่างๆ ที่มีเจตนาจะรักษาผืนป่า หรือป่าต้นน้ำแข็งตัวไม่ยืดหยุ่นให้มีช่องให้ชุมชนได้ใช้ช่องทางในการอยู่ร่วมกับผืนป่าได้ ความพยายามเสนอ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งเป็นทางออกที่สำคัญ และมีชุมชนเข้าร่วมเสนอทางออกมากมายก็ถูกปิดตาย
 

 
4.มีมติ ครม.หลายครั้งในการพยายามแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการลุกกันขึ้นมาเรียกร้องของพี่น้องในชุมชนในเขตป่า แต่มติ ครม.ในแต่ละสมัยก็ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ เพราะหน่วยงานราชการอื่นๆ ต่างถือ พ.ร.บ.หรือประกาศต่างๆ อยู่ในมือ หรืออคติต่อวิถีของชุมชนในเขตป่า มติ ครม.แต่ละยุคจึงเสมือนยาแก้ปวด หรือเพื่อคลี่คลายปัญหาการกดดันทางการเมืองหาใช่มุ่งแก้ปัญหาของผืนป่า และชุมชน

5.การรุกคืบของธุรกิจอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพด ได้ขยายตัวเติบโตเพราะมีผู้ได้รับผลประโยชน์มหาศาลเรียงลดหลั่นกระจายไปทั่วทั้งคนที่อยู่ในเมืองในชุมชน แต่ชุมชนได้ผลตอบแทนน้อยที่สุด และป่าย่อยยับมากที่สุด การผนึกกำลังกันของธุรกิจขนาดใหญ่ทำให้ระบบราชการไม่สามารถลุกขึ้นมาขัดขวางการรุกคืบของการรุกป่าได้
 

 
6.ทางออกเท่าที่ติดตามปัญหานี้มาระยะหนึ่งมีข้อเสนอที่น่าพิจารณาคือ

6.1.ตรวจสอบขอบเขตของชุมชนในเขตป่าให้ชัดเจน ทั้งในส่วนที่เป็นที่ตั้งของชุมชน และพื้นที่ทำกินแล้วมอบสิทธิให้แก่พวกเขาได้มีสิทธิในแผ่นดินที่เขาเกิด และที่ทำกินอย่างเท่าเทียม ในส่วนของพื้นที่ที่เปราะบางต่อป่าต้นน้ำฟังมาว่า ชุมชนยินดีถอยลงมา และยินดีจะร่วมกันฟื้นฟูป่าให้กลับคืนมา ขอเพียงสังคมเข้าใจวิถีของเขา และอย่ามองเขาเป็นผู้ร้ายในการบุกรุกทำลาย โดยไม่มองเห็นส่วนอื่นๆ ที่มีส่วนหนุนให้เกิดการทำลายที่ซ่อนตัวหาประโยชน์อย่างเลือดเย็นกับพวกเขา และผืนป่าของชาติ
 

 
6.2 เมื่อชุมชนได้สิทธิในพื้นที่ชุมชน และพื้นที่ทำกิน ความรักหวงชุมชนก็จะมีมากขึ้น การเข้าไปหนุนเสริมในเรื่องอาชีพ/รายได้ในทิศทางที่ไม่ก่อให้เกิดการบุกรุกทำรายป่าของหน่วยงานต่างๆ ก็จะง่ายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

6.3 ปัญหาการจัดการทรัพยากรของชาติโดยรวมโดยเฉพาะปัจจัยในการผลิตคือที่ดินของประเทศต้องได้รับการแก้ไข เป็นไปได้อย่างไรที่โครงสร้างสังคมนี้ปล่อยให้คนจำนวนหนึ่งถือครองปัจจัยการผลิตที่สำคัญของผู้คนถึงหมื่นไร่แสนไร่ ในขณะที่เกษตรกรตัวจริงไร้ปัจจัยในการผลิตและดำรงชีพ สังคมที่มีโครงสร้างเช่นนี้ไม่สามารถพัฒนาไปอย่างยั่งยืนได้ และเราก็ไม่สามารถหยุดยั้งการบุกรุกแผ้วถางป่าได้ตราบใดที่แผ่นดินดีๆ ที่เหมาะแก่การผลิตตกไปอยู่ในมือคนเพียงหยิบมือเดียว...ไม่มีมนุษย์คนใดยอมงอมืองอเท้ารอวันตายหรอก
 

 
ขอบคุณกัลยาณมิตรที่เปิดโอกาสให้ผมได้ไปเรียนรู้ ให้อาหาร ให้ที่พัก และเสียเวลาพาตระเวนพบชุมชนที่โน่นที่นั่นขอบคุณมากๆ ครับ
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น