นราธิวาส - โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยมาตรการแก้ราคายางพาราตกต่ำ รัฐทำข้อตกลงร่วมไทย อินโดฯ มาเลเซีย ลดการส่งออกกว่า 6 แสนตัน คาดมีนาคมราคายางจะมีผลบวกดีขึ้น
วันนี้ (17 ก.พ.) ที่ห้องประชุม สำนักงานเกษตร จ.นราธิวาส บริเวณศูนย์ราชการ อ.เมือง จ.นราธิวาส นายสุรพล จารุพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และโฆษกกระทรวงฯ ได้เป็นประธานประชุมเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารระดับอำเภอ จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความคืบหน้า และรับทราบปัญหาพืชผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่
นายสุรพล จารุพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาพืชเกษตรของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ดินอุดมสมบูรณ์ แต่เกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ฤดูกาล เช่น ลองกอง มังคุด ทุเรียน เงาะ เป็นต้น และอีกเรื่องคือ ยางพาราที่รัฐบาลให้รับซื้อไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ราคาไม่เกิน 60 บาทต่อกิโลกรัม โดยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ปลูกยางพารา และขายยาง แต่ไม่ค่อยพบปัญหา ประกอบกับระยะนี้ทางภาคเหนือ อีสาน หยุดกรีดในช่วงนี้ ในส่วนภาคใต้ ยังพบมีปัญหาอยู่ เช่น ยางก้นถ้วย ดังกล่าวยังไม่ได้มาตรฐานและคุณภาพ รัฐไม่สามารถที่จ่ายในราคาที่กำหนดได้ จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต้องทำความเข้าใจต่อเกษตรกรเพื่อปรับวิธีการใหม่ให้เป็นมาตรฐาน ในส่วนชดเชย หรือกำหนดจ่ายเกษตรกรรายย่อย 1,500 ต่อไร่ โครงการสามารถเดินต่อได้อย่างปกติ นอกจากนี้ ปัญหาที่เกษตรกรขายยางแล้วอยากได้เงินสดแต่ติดที่เงินต้องเข้าบัญชี ธ.ก.ส.นั้น เรื่องนี้รัฐพร้อมที่จะนำไปแก้ไขเพื่อให้เกิดความคล่องตัวแก่เกษตรกร
“ในส่วนการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ขอชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในฐานะผู้ผลิดยางพาราในอันดับโลกได้ทำข้อตกลงจะลดปริมาณการส่งออกทั้งสิ้น 615,000 ตัน ประเทศจะลดส่งออกประมาณ 300,000 ตัน เพื่อแก้ปัญหาราคายางล้นตลาดโลก ซึ่งเชื่อว่าราวเดือนมีนาคมปีนี้ มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ราคายางดีขึ้น รวมถึงนโยบายต่อเนื่องลดต้นทุนการผลิตเพิ่มต้นทุนการแข่งขัน” นายสุรพล โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว